พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 7 - 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Wednesday November 7, 2018 13:57 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 7-13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 134/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 7-13 พ.ย. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น สำหรับภาคใต้ในช่วงวันที่ 7-9 พ.ย. มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน มีคลื่นสูง 2-3 เมตร

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 7-9 พ.ย. หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างหรือทางตะวันออกของประเทศมาเลเซีย จะเคลื่อนผ่านภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน จะมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ลมตะวันออกพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเกิดขึ้นในระยะนี้ สำหรับภาคเหนือมีลมตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 10-13 พ.ย. บริเวณความกดอากาศสูงอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศเวียนามตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง ประกอบกับคลื่นกระแสลมตะวันตกพัดปกคลุมภาคเหนือ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้

คำเตือน ในช่วงวันที่ 7-9 พ.ย. บริเวณภาคใต้ระวังจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนบริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมง ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง และในช่วงนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับผลผลทางการเกษตรไว้ด้วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในวันที่ 7-8 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าอุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 5-13 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 9-13 พ.ย. มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย หากร่างกายปรับตัวไม่ทัน
  • ในช่วงวันที่ 9-13 พ.ย.จะมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ20-40 ของพื้นที่ ผลผลิตทางการเกษตรที่แก่ดีแล้ว เกษตรกรควรรีบเก็บเกี่ยว และไม่ควรตากไว้กลางแจ้งในช่วงดังกล่าว เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้
  • สำหรับไม้ผลที่ออกดอกในช่วงฤดูหนาว เช่น ลำไยและลิ้นจี่ เป็นต้น เกษตรกรควรกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นไม้ผลดังกล่าวให้โล่งเตียน เพื่อให้ดินแห้ง เป็นการกระตุ้นให้พืชแตกตาดอก เมื่ออุณหภูมิอากาศลดลงและมีความยาวนานเพียงพอจะทำให้พืชแตกตาดอกได้ดี

ตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในวันที่ 8-9 พ.ย. มีเมฆบางส่วน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 10-13 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 11-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการเผาตอซังข้าว เพราะจะลดความอุดมสมบูรณ์ของดินลง โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้ถนนหลวง ควันไฟจะทำให้ทัศนวิสัยลดลง อาจเป็นสาเหตุ ของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้
  • สำหรับเกษตรกรที่มีแหล่งน้ำเป็นของตนเองควร วางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง
  • ระยะนี้ปริมาณฝนมีน้อย ปริมาณน้ำระเหยมีมากทำให้ความชื้นในดินลดลง เกษตรกรควรคลุมดินด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน

กลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 8-10 พ.ย. มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะน้องร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 11-13 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 8-10 พ.ย.จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้
  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้ง ปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย พื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน หากเกษตรกรต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรเลือกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย
  • เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรค ได้ง่าย
ตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 8-10 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 11-13 พ.ย.มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 8-10 พ.ย.จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว เกษตรกรไม่ควรตากไว้กลางแจ้ง เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้
  • เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูหนาวปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่าง ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อนทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 7-9 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ในช่วงวันที่ 10-13 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 8-10 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 11-13 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 7-9 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก
  • ระยะนี้เป็นช่วงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือภาคใต้ฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมดังกล่าวจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันตกกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรขุดลอกคูคลอง ทางระบายน้ำ ตลอดจนสันดอนปากแม่น้ำ อย่าให้ตื้นเขิน น้ำไหลได้สะดวก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูก
  • ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง ในยางพารา โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล เป็นต้น
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 7-9 พ.ย. บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 7-13 พ.ย. 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนพฤศจิกายน (ช่วงวันที่ 1-6 พ.ย.) บริเวณประเทศไทยตอนบนไม่มีรายงานฝนตก สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า50 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ทางตอนล่างของภาคที่มีปริมาณฝนสะสม 50-300 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา (ช่วงวันที่ 31 ต.ค. - 6 พ.ย.) ประเทศไทยส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่ ในภาคใต้ตอนล่าง ที่มีปริมาณฝนสะสม 50-300 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-35 มม.

สมดุลน้ำสะสม ประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ คือ (-1) - (-40) มม. เว้นแต่บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ที่มีค่าสมดุลน้ำสะสม 1 - 300 มม.

คำแนะนำ ในช่วงที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณอื่นๆ ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า บริเวณประเทศไทยตอนบน อุณหภูมิจะสูงขึ้น กับมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดรนะวัง โดยเฉพาะขณะสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาใว้ด้วย สำหรับภาคใต้โดยเฉพาทางฝั่งตะวันออกจะมีฝนกับฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก และในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูงเกษตรกรควรระวังป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ