พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 19 - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
ออกประกาศวันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 139/61
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 19-21 พ.ย. ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนอง สำหรับภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 22-25 พ.ย. ประเทศไทยตอนบนยังคงฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง1-3 องศาเซลเซียส ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง ส่วนบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 19-21 พ.ย. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำ ปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ตอนกลาง ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 22-25 พ.ย. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมบริเวณอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง อนึ่งในช่วงวันที่ 23-25 พ.ย. จะมีพายุโซนร้อนเคลื่อนตัวผ่านทะเลจีนใต้เข้ามาสลายตัวที่ชายฝั่งประเทศเวียดนาม
คำเตือน ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส เกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย นอกจากนี้ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับภาคใต้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงโดยในช่วงวันที่ 19-21 พ.ย. จะมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนในช่วงวันที่ 20-22 พ.ย. บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 19-21 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-15 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 22-25 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวอุณหภูมิต่ำสุด 6-14 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่และอุณหภูมิจะลดลง1-3 องศาเซลเซียส เกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย นอกจากนี้ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
- เกษตรกรที่ปลูกลิ้นจี่ซึ่งอยู่ในระยะพักตัวเตรียมออกดอกควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืช เช่น ไรสี่ขาและหนอนเจาะกิ่ง เป็นต้น
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 19-20 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด12-15 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 21-25 พ.ย. มีฝนร้อยละ 10-20 ของพื้นที่โดยมีอากาศเย็นและอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียสสำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำ สุด 10-14 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่และอุณหภูมิจะลดลง1-3 องศาเซลเซียส เกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย นอกจากนี้ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
- เกษตรกรที่ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำและผักกาด ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืช เช่น หนอนใยผักและด้วงหมัดผัก เป็นต้น
ภาคกลาง
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 19-21 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.ส่วนในช่วงวันที่ 22-25 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ เกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย นอกจากนี้ควรให้น้ำแก่พืชเพิ่มเติมตามความเหมาะสม
- เกษตรกรที่ปลูกส้มโอซึ่งอยู่ในระยะแตกใบอ่อน (ตัดแต่งกิ่ง)ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืช เช่น หนอนชอนใบ แมลงค่อมทอง และโรคแคงเกอร์ เป็นต้น
ภาคตะวันออก
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 19-21 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 22-25 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ เกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย นอกจากนี้ควรให้น้ำแก่พืชเพิ่มเติมตามความเหมาะสม
- เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนซึ่งอยู่ในระยะพักตัวเตรียมออกดอกควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืช เช่น หนอนเจาะลำต้นทุเรียนและไรแดง เป็นต้น
ภาคใต้
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 19-21 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรส่วนในช่วงวันที่ 22-25 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 19-21 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 22-25 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่19-21 พ.ย. จะมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
- ในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่องทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูงเกษตรกรที่ปลูกมังคุดซึ่งอยู่ในระยะแตกใบอ่อนและเจริญเติบโตทางใบควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคและศัตรูพืช เช่น โรคใบจุด โรคใบไหม้ และหนอนชอนใบ เป็นต้น
- ในช่วงวันที่ 20-22 พ.ย. บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
ปริมาณฝนสะสมเดือนพฤศจิกายน (ช่วงวันที่ 1-18 พ.ย.) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม.เป็นส่วนใหญ่ สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสม 50-400 มม. โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกของภาคที่มีปริมาณฝนสะสม300-400 มม.
ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา (ช่วงวันที่ 12-18 พ.ย.) ประเทศไทยส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนล่างที่มีปริมาณฝนสะสม 50-100 มม.
ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-30 มม. เว้นแต่ภาคเหนือตอนบนด้านตะวันออกที่มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมต่ำกว่า 15 มม.
สมดุลน้ำสะสม ประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ คือ (-1) - (-30) มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง ภาคตะวันออกตอนล่าง และภาคใต้ตอนล่างที่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวกคือ 1-70 มม.
คำแนะนำ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคใต้มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียสเกษตรกรไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง และควรระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของต้นพืชทำให้ผลผลิตเสียหายได้ ส่วนภาคใต้จะยังคงมีฝนและฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยจัดทำระบบระบายน้ำบริเวณแปลงปลูกพืชให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งระวังการระบาดของโรค พืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักชนิดต่างๆ ที่จะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74