ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ
ระหว่าง 14 มกราคม 2551 - 20 มกราคม 2551
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 14-18 ม.ค.มีหมอกในตอนเช้ากับมีหมอกหนาในหลายพื้นที่ อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อากาศหนาว สำหรับบริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ เกษตรกรควรเตรียมป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตรด้วย และในช่วงวันที่ 19-20 ม.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส และมีหมอกหนาเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ ผู้ขับขี่ยานพาหนะควรระวังอันตรายขณะสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในระยะนี้ควรหลีกเลี่ยงการตาก ไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายจากน้ำค้างได้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 14-18 ม.ค. มีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส อากาศหนาว กับมีลมแรง สำหรับบริเวณยอดภูจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และในช่วงวันที่ 19-20 ม.ค. อุณหภูมิ จะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งผู้ขับขี่ยานพาหนะควรระวังอันตรายขณะสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา ส่วนผู้ที่ปลูกมะขามหวานที่กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ในช่วงนี้ควรระวังป้องกันการระบาดของเชื้อราที่จะทำให้ฝักเสียหายได้
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 14-18 ม.ค. มีหมอกในตอนเช้ากับอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อากาศเย็น และในช่วงวันที่ 19-20 ม.ค.อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส กับมีหมอกหนาเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ ผู้ใช้รถใช้ถนนควรเพิ่มความระมัดระวังขณะสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา และควรหลีกเลี่ยงการเผาเศษวัสดุการเกษตร นอกจากนี้เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอแก่พืชที่กำลังให้ผลผลิต
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 14-18 ม.ค. มีหมอกในตอนเช้า กับอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อากาศเย็น และในช่วงวันที่ 19-20 ม.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส และมีหมอกหนาเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ สำหรับไม้ผลที่ออกดอกและติดผลอ่อนในระยะนี้ เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ โดยฉีดน้ำ ให้เป็นฝอยเพื่อป้องกันเชื้อราเนื่องจากหมอก รวมทั้งควรป้องกันและระวังศัตรูพืชจำพวกปากดูด
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ฝั่งตะวันออกอากาศเย็นทางตอนบนของภาค ส่วนทางตอนล่างของภาคมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป ในช่วงวันที่ 16-19 ม.ค. และในวันที่ 20 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆตลอดช่วง บริเวณทางตอนบนของภาคไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอก เกษตรกรควรดูแลให้น้ำอย่างเพียงพอ ส่วนทางตอนล่างของภาคชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา โดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน อนึ่ง ในช่วงวันที่ 15-19 ม.ค. คลื่นลมในอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรระมัดระวังความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-