พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 14 - 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Friday December 14, 2018 15:58 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 14 - 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 149/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 14-18 ธ.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นลงกับมีลมแรง โดยในภาคเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ส่วนภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 19-20 ธ.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส แต่ยังคงมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีฝนบางแห่ง สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนลดลง

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 14-18 ธ.ค. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นโดยทั่วไปกับมีลมแรง และอากาศหนาวบางพื้นที่ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรง ส่วนในช่วงวันที่ 19-20 ธ.ค. บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนเริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้น กับมีฝนบางแห่ง แต่ยังคงมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีปริมาณฝนลดลง และคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 14-18 ธ.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศหนาวเย็น เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนบริเวณภาคใต้จะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก สำหรับบริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งของภาคใต้ฝั่งตะวันออกควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงด ออกจากฝั่ง อนึ่ง ในช่วงวันที่ 19-20 ธ.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะขณะสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาควรเพิ่มความระมัดระวัง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 14-18 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 15-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-30 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 2-10 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ในช่วงวันที่ 19-20 ธ.ค. มีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า กับมีฝนบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 17-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-31 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้อากาศจะหนาวเย็น เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
  • สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรลดปริมาณอาหาร เนื่องจากอุณหภูมิที่ลดลงทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อยลง อาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่จะอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวอากาศจะจมตัว เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการจุดไฟเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพราะควันไฟไม่อาจลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศได้แต่จะแผ่ปกคลุมบริเวณข้างเคียง ทำให้ทัศนวิสัยลดลง และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 14-19 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 14-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ในวันที่ 20 ธ.ค. อากาศเย็น กับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีฝนบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 17-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • สำหรับเกษตรกรที่จุดไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยง หลังจากเลิกใช้งานแล้วควรดับให้สนิททุกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย
  • เนื่องจากระยะนี้และฤดูต่อไป ปริมาณและกระกระจายของฝนจะมีน้อย เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง
  • สำหรับปริมาณน้ำระเหยที่มีมากในระยะนี้ เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืช ด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในวันที่ 14-18 ธ.ค. อากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 19-20 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีฝนบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่นใบอ่อน และยอดอ่อน ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในวันที่ 14-18 ธ.ค. อากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียสลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 19-20 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีฝนบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย หากร่างกายปรับตัวไม่ทัน
  • ฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • เนื่องจากระยะนี้และฤดูต่อไปจะเป็นช่วงแล้งปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในวันที่ 14-18 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ตั้งแต่จังหวัดชุมพรขึ้นมา : ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป: ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 19-20 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

ฝั่งตะวันตก ในวันที่ 14-18 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในวันที่ 19-20 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันตกกับมีฝนและฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง
  • เนื่องจากฝนที่ตกชุกในระยะนี้ เกษตรกรควรดูแลคูคลอง และทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกอย่าให้ติดขัดตื้นเขิน น้ำสามารถระบายได้รวดเร็ว เพื่อป้องกันน้ำขังในพื้นที่เพาะปลูกและบริเวณโคนต้นพืชเป็นเวลานานทำให้รากพืชขาดอากาศ ต้นพืชตายได้
  • ส่วนทางฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณฝนลดลง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพได้
  • อนึ่ง บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร สำหรับเกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งของภาคใต้ฝั่งตะวันออกควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือและชาวประมง ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และในช่วงวันที่ 14-18 ธ.ค. บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำในช่วง 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 14-20 ธ.ค. 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนธันวาคม (ช่วงวันที่ 1-13 ธ.ค.) ประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่มีปริมาณฝนสะสม 100-400 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา (ช่วงวันที่ 7–13 ธ.ค.) ประเทศไทยส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่ในภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่มีปริมาณฝนสะสม 50-300 มม. ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 10-25 มม.

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยตอนบนมีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ คือ (-1) – (-30) มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนล่างที่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวก คือ 1-70 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวก โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกของภาคมีค่าสมดุลน้ำสะสมสูงสุด คือ 70-300 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนน้อยและอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน นอกจากนี้ควรให้น้ำแก่พืชตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันต้นพืชชะงักการเจริญเติมโต สำหรับภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยจัดทำระบบระบายน้ำบริเวณแปลงปลูกพืชให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ