พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 4 - 10 มกราคม พ.ศ. 2562
ออกประกาศวันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2562
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 2/62
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 4–5 ม.ค. 62 บริเวณภาคใต้จะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง สำหรับบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 3-5 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร สำหรับในช่วงวันที่ 4 – 10 ม.ค. 62 บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส โดยจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 4-5 ม.ค. 62 พายุโซนร้อนปาบึก (PABUK) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง คาดว่าจะเคลื่อนผ่านภาคใต้ลงสู่ทะเลอันดามัน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น สำหรับในช่วงวันที่ 4–10 ม.ค. 62 บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังอ่อนลงประกอบกับคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนผ่านภาคเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น และมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
คำเตือน ในช่วงวันที่ 4 - 9 ม.ค. 62 บริเวณประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพรักษาให้แข็งแรง เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง สำหรับในช่วงวันที่ 3–5 ม.ค. 62 บริเวณภาคใต้จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนชาวเรือและชาวประมงบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรงดการเดินเรือ สำหรับเกษตรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งของภาคใต้ฝั่งตะวันออกควรระวังและป้องกัน คลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 5-10 ม.ค. 62 อากาศเย็นถึงหนาว โดยในช่วงวันที่ 6-8 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 12-17 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-30 องศาเซลเซียสสำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว15-30 กม./ชม.
ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- สภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงในช่วงนี้ เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยโดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ
- เกษตรที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ควรหมั่นดูแลรักษาสุขภาพสัตว์น้ำทั้งที่เลี้ยงในกระชังและบ่อดิน และควรลดปริมาณอาหารให้น้อยลง เพื่อป้องกันอาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย และทำให้สัตว์น้ำเป็นโรคได้ง่าย
- สำหรับไม้ผลที่ออกดอกในช่วงฤดูหนาว เช่น ลิ้นจี่ และลำไย เกษตรกรควรงดให้น้ำ รอจนเห็นดอกชัดเจน จึงค่อยให้น้ำโดยให้ในปริมาณที่น้อยก่อนแล้วค่อยเพิ่มปริมาณขึ้น
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 4-7 ม.ค. 62 อากาศเย็นถึงหนาว และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 14-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด28-32 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 8-14 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 8 - 10 ม.ค. 62 อากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 17-20 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-13 องศาเซลเซียสลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- สภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยโดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ
- ในระยะนี้ปริมาณฝนมีน้อย ปริมาณน้ำระเหยมีมาก ทำให้ความชื้นในดินลดลง เกษตรกรควรคลุมดินด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน เพื่อรักษาความชื้นภายในดิน
ภาคกลาง
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 4-6 ม.ค. 62 อากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด30-34 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 10 ม.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- เกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน ควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด โดยให้น้ำแก่พืชครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้งนอกจากนี้ควรใช้เศษวัชพืชคลุมโคนทั่วบริเวณใต้ทรงพุ่มเพื่อป้องกันการระเหยของน้ำและรักษาความชื้นของดิน
- เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการจุดไฟเผาขยะหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ตอชังข้าว เป็นต้น เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย
ภาคตะวันออก
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 4-6 ม.ค. 62 อากาศเย็นในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรส่วนในช่วงวันที่ 7-10 ม.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
ความชื้นสัมพัทธ์ 60-75 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะติดผล เกษตรกรควรดูแลให้น้ำอย่างเพียงพอ เพราะหากไม้ผลได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้การติดผลลดลง และจะได้ผลผลิตที่มีขนาดเล็กคุณภาพต่ำ
- สำหรับเกษตรกรที่มีแหล่งน้ำ เป็นของตนเอง ควรวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง
ภาคใต้
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 4 - 5 ม.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง กับมีลมกระโชกแรง ลมตะวันออกความเร็ว 40-60 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 3-5 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 5 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 10 ม.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ความชื้นสัมพัทธ์ 75-90 %
ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 4 - 5 ม.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ40-60 ของพื้นที่ กับฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กับมีลมกระโชกแรง ลมตะวันออก ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 10 ม.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด30-34 องศาเซลเซียส
ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ในช่วงวันที่ 4-5 ม.ค. 62 ภาคใต้จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ เกษตรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มไว้ด้วย
- จากสภาวะที่มีฝนตกติดต่อกัน ทำให้ความชื้นในดินและในอากาศมีสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวนและพืชผักต่างๆ เช่น โรคหน้ากรีดยางในยางพารา โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล เป็นต้น โดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน และป้องกันโรคที่เกิดจากเชือรา
- อนึ่งในช่วงวันที่ 4-5 ม.ค. 61 บริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง โดยมีคลื่นสูง 3-5 เมตร เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรงดเดินเรือในระยะนี้
ปริมาณฝนสะสมเดือนมกราคม (ในช่วงวันที่ 1-3 มกราคม 2562) ประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบนไม่มีรายงานฝนตก เว้นแต่ภาคใต้ตอนล่างมีปริมาณฝนสะสม 1-200 มม.
ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณภาคใต้ตอนล่างที่มีปริมาณฝนสะสมสมสูงสุด 100-200 มม.
ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 10-30 มม. โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกด้านตะวันตกมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่นๆ
สมดุลน้ำ 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำเป็นลบ คือ (-1)-(-30) มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกตอนบนด้านตะวันตก และภาคใต้ตอนล่างที่มีค่าสมดุลน้ำเป็นบวก คือ 10-200 มม.
คำแนะนำ ช่วง 7 วันที่ผ่าน ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งส่วนมากในภาคใต้ สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า บริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศหนาวเย็น กับมีอากาศแปรปรวน เกษตรกรควรให้ดูแลสุภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเพื่อป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงวันที่ 4-5 ม.ค.2562 โดยจะมีฝนตกเป็นบริเวณกว้างกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวนและพืชผักชนิดต่างๆ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74