พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 20 - 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562
ออกประกาศวันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 22/62
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 20-23 ก.พ.62 ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นโดยทั่วไป กับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 24-26 ก.พ.62 ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นโดยทั่วไป กับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
ลักษณะสำคัญทาง ในช่วงวันที่ 20-23 ก.พ.62 ลมฝ่ายตะวันตกพัดปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 24-26 ก.พ.62 ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
คำเตือน ในช่วงวันที่ 24-26 ก.พ. 62 บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายที่เกิดกับผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 21-22 ก.พ.62 อากาศเย็นในตอนเช้า กับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 16-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-15 กม./ชม. สำหรับบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-14 องศาเซลเซียส
ส่วนในช่วงวันที่ 23-26 ก.พ.62 อากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 17-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.
ความชื้นสัมพัทธ์ 60-75 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ระยะนี้อุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนแตกต่างกันมาก เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
- จากสภาพอากาศร้อนและแห้ง เกษตรกรไม่ควรเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพราะไฟอาจลุกลาม จนทำให้เกิดอัคคีภัยขึ้นได้ นอกจากนี้หมอกควันไฟทำให้บดบังการมองเห็น และก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 20-23 ก.พ. 62 ทางตอนบนของภาคอากาศเย็นในตอนเช้า กับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ส่วนในช่วงวันที่ 24-26 ก.พ.62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- จากสภาวะอากาศร้อนในตอนกลางวัน ทำให้การระเหยของน้ำมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน และเป็นการรักษาความชื้นภายในดิน
- สำหรับเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง ควรระวังและป้องกันการระบาดของศํตรูพืชจำพวกเพลี้ยและไร ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่างๆ ของมันสำปะหลัง หากระบาดขณะพืชยังเล็กอยู่อาจมีผลกระทบต่อการสร้างหัวหรือต้นตายได้
- ในช่วงวันที่ 24-26 ก.พ. จะมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งไม่ควรตากผลผลิตไว้กลางแจ้ง เพราะจะทำให้เสียหายได้
ภาคกลาง
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 20-24 ก.พ.62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ส่วนในช่วงวันที่ 25 - 26 ก.พ.62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- จากสภาวะอากาศร้อนในตอนกลางวัน ทำให้การระเหยของน้ำมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช ด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน และเป็นการรักษาความชื้นภายในดิน
- สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูพืชในระยะนี้ ควรเลือกพืชที่ต้องการน้ำค่อนข้างน้อย และมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น เช่น พืชตระกูลถั่ว เป็นต้น
- ในช่วงวันที่ 25-26 ก.พ. จะมีฝนฟ้าคะนอง และมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งไม่ควรตากผลผลิตไว้กลางแจ้ง เพราะจะทำให้ผลผลิตเสียหายได้
ภาคตะวันออก
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 20-22 ก.พ.62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ส่วนมากบริเวณชายฝั่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส
ส่วนในช่วงวันที่ 23-26 ก.พ.62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงอุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร
ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ในช่วงนี้ปริมาณฝนมีน้อยและไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช โดยเฉพาะไม้ผลที่อยู่ในระยะติดผลอ่อน เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้พืชชะงักการเจริญเติบโต รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินผลอ่อน ทำให้ผลผลิตเสียหายและด้อยคุณภาพ
- ในช่วงวันที่ 23-26 ก.พ. จะมีฝนฟ้าคะนอง และมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตร
ภาคใต้
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ตลอดช่วงลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ระยะนี้ปริมาณฝนมีน้อยและไม่พอเพียงกับความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต และควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืช ด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำและเป็นการรักษาความชื้นภายในดิน
- สำหรับเกษตรกรที่ปลูกยางพารา ควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวป้องกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูก และหลีกเลี่ยงการจุดไฟในบริเวณแปลงปลูก
ปริมาณฝนสะสมเดือนกุมภาพันธ์ (ในช่วงวันที่ 1-19 กุมภาพันธ์) บริเวณประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออก และภาคใต้ตอนล่าง มีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-100 มม.
ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออกมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-100 มม. สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 10 มม.
ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยมีค่าศํกย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-35 มม. โดยภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่นๆ สมดุลน้ำ บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำ (-20)-(-40) มม. เว้นแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคกลางตอนล่างมีค่าสมดุลน้ำ 1-40 มม.
คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีรายงานฝนตกหนักหลายพื้นที่ สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นโดยทั่วไป ทำให้มีอากาศร้อนและมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชเพิ่มเติมตามความเหมาะสม สำหรับภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งตลอดช่วง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74