พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 1 – 7 มีนาคม พ.ศ. 2562

ข่าวทั่วไป Friday March 1, 2019 15:53 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 1 – 7 มีนาคม พ.ศ. 2562

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2562

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 26/62

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 1 - 4 มี.ค. 62 ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นโดยทั่วไป กับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 7 มี.ค. 62 ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 1 – 4 มี.ค. 62 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 7 มี.ค. 62 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าว มีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่

ข้อควรระวัง เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนในตอนกลางวัน เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง หากมีความจำเป็นต้องทำงานในที่โล่งแจ้งควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เพื่อป้องกันผิวไหม้เกรียม และดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 1 - 4 มี.ค. 62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 7 มี.ค. 62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 16-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-15 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 50-60 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากในช่วงฤดูร้อนปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด และควรวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง
  • สำหรับสภาพอากาศที่แห้งในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบ บริเวณพื้นที่เพาะปลูก โรงเก็บพืชผลทางด้านการเกษตร โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ และอาคารบ้านเรือน โดยเฉพาะสวนยางพารา เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการจุดไฟ หากมีความจำเป็นต้องจุดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 1 - 3 มี.ค. 62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 7 มี.ค. 62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้น และใช้น้ำน้อย เนื่องจากในช่วงฤดูร้อนปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยง ควรดูแลสภาพน้ำ ให้เหมาะสมกับชนิดของสัตว์น้ำที่เลี้ยง และดูแลจำนวนสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ หากปริมาณน้ำมีน้อยจะทำให้สัตว์น้ำอยู่อย่างแออัด ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 1 - 4 มี.ค. 62 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 7 มี.ค. 62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.

ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนในตอนกลางวัน เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรเพิ่มปริมาณน้ำกินให้กับสัตว์เลี้ยง และลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน โดยนำวัสดุอุ้มน้ำชุบน้ำแล้วนำไปวางไว้ในโรงเรือน หรือฉีดน้ำเป็นละอองบริเวณโรงเรือน หากมีน้ำเพียงพออาจฉีดน้ำบริเวณหลังคาโรงเรือน ก็จะพอลดความร้อนลงไปได้บ้าง เนื่องจากน้ำที่ระเหยไปจะพาความร้อนออกไปด้วย
  • สำหรับปริมาณและการกระจายของฝนที่มีน้อยและปริมาณน้ำระเหยมีมากทำให้ความชื้นในดินลดลง เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างพอเพียง เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ ผลผลิตด้อยคุณภาพ ถ้าขาดน้ำเป็นเวลานานจะทำให้สูญเสียผลผลิตโดยสิ้นเชิง

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 1 - 4 มี.ค. 62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 7 มี.ค. 62 มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรดูแลให้น้ำอย่างเหมาะสม ถ้าขาดน้ำจะทำให้ผลชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตด้อยคุณภาพ ถ้าขาดน้ำเป็นเวลานานอาจทำให้ผลร่วงหล่น สูญเสียผลผลิตได้
  • ส่วนสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆ ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นพืช ทำให้ต้นพืชทรุดโทรม ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ตลอดช่วงอุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ตลอดช่วงอุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากในช่วงฤดูร้อนปริมาณน้ำระเหยจะมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืช และโคนต้นพืช ด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ และหญ้าแห้งเป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน
  • ระยะนี้อากาศแห้ง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตร และหลีกเลี่ยงการจุดไฟในแปลงปลูกหากมีความจำเป็นต้องจุดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลัง เลิกใช้งาน
  • เนื่องจากระยะนี้ปริมาณฝนมีน้อย เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างพอเพียง เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ ต้นพืชเหี่ยวเฉา ถ้าขาดน้ำเป็นเวลานานจะทำให้ต้นพืชตายได้
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำในช่วง7วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 1 – 7 มี.ค. 2562

ปริมาณฝนสะสมเดือนกุมภาพันธ์ (ช่วงวันที่ 1-28 ก.พ.) บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ทางตอนล่างของภาคที่มีปริมาณฝนสะสม 50-100 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 25 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออกตอนบนด้านตะวันตกที่มีปริมาณสะสม 25-100 มม. ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 25-35 มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคกลางตอนบน และภาคใต้ตอนล่างที่มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 35-40 มม.

สมดุลน้ำ ประเทศไทยมีค่าสมดุลน้ำเป็นลบ คือ (-1) - (-40) มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออกตอนบนด้านตะวันตกที่มีค่าสมดุลน้ำเป็นบวก คือ 1-40 มม.

คำแนะนำ ช่วง 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการทำงานกลางแจ้งหรือบริเวณที่มีอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคลมแดด ส่วนในช่วงวันที่ 5-7 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับภาคใต้ระยะนี้ปริมาณฝนมีน้อย เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชตามความเหมาะสม เพราะหากต้นพืชขาดน้ำเป็นเวลานาน อาจทำให้ ต้นพืชเหี่ยวเฉาและตายได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ