พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 3 - 9 เมษายน พ.ศ. 2562

ข่าวทั่วไป Wednesday April 3, 2019 14:05 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 3 - 9 เมษายน พ.ศ. 2562

ออกประกาศวันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2562

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 40/62

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 4 - 9 เม.ย. ประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนอง บางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

ลักษณะสำคัญทาง ในช่วงวันที่ 4 - 9 เม.ย. หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 3-4 เม.ย. บริเวณประเทศไทยจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยควรอยู่ห่างจากต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง และป้ายโฆษณาสูงๆ ขณะลมแรง รวมถึงหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งและปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งขณะฟ้าคะนอง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

อากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 3 - 4 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง ส่วนมากบริเวณทางด้านตะวันออกและทางตอนล่างของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 9 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 17-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้สภาพอากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตร โรงเก็บพืชผลทางด้านการเกษตร โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ และอาคารบ้านเรือน โดยเฉพาะบริเวณสวนยางพารา ควรหลีกเลี่ยงการจุดไฟ เพราะไฟอาจลุกลามได้ง่าย
  • สำหรับอุณหภูมิที่สูงในตอนกลางวัน เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรเพิ่มน้ำกินสำหรับสัตว์เลี้ยง และลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ โดยดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก อาจติดตั้งพัดลมดูดและเป่าอากาศ หากมีน้ำเพียงพออาจฉีดน้ำเป็นฝอยบริเวณโรงเรือนหรือฉีดน้ำบริเวณหลังคา

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

อากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 3 - 4 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 9 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวมาแล้วหากเปียกฝนในระยะที่ผ่านมาควรลดความชื้นก่อนนำเข้าโรงเก็บ เพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียหาย
  • แม้จะมีฝนตกในระยะที่ผ่านมา แต่ปริมาณและการกระจายยังไม่มากทำให้ความชื้นในดินมีน้อย เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

อากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 3 - 4 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 9 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้ปริมาณฝนที่ตกมีน้อยกว่าการคายระเหยน้ำของพืชทำให้ความชื้นในดินลดลง เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ต้นพืช เหี่ยวเฉา ถ้าขาดน้ำเป็นเวลานานจะทำให้ต้นพืชตายได้
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตก เกษตรกรควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 3 - 4 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 9 เม.ย. อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ฝนที่ตกในระยะนี้จะเป็นผลดีแก่พืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตและเจริญเติบโตทางผล แต่ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักด้วย ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
  • ส่วนผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้วในระยะที่ผ่านมาหากเปียกฝน เกษตรกรควรลดความชื้นก่อนนำเข้าโรงเก็บ เพื่อป้องกันผลผลิตเน่าเสียหาย

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 3 - 4 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 9 เม.ย. มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 3 - 4 เม.ย. 62 โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 9 เม.ย. 62 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีน้อย เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอกและติดผลอ่อน หากขาดน้ำจะทำให้การติดผลลดลง
  • ส่วนทางฝั่งตะวันตกจะมีฝนตกและหยุดสลับกัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชสวนและพืชผัก ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อนทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตก เกษตรกรควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 3-9 เม.ย. 2562

ปริมาณฝนสะสมเดือนเมษายน (ในช่วงวันที่ 1-2 เม.ย.) ประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ และชัยนาท ที่มีปริมาณฝนสะสม 50-100 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ ชัยนาทจันทบุรี ตราด และภาคใต้ตอนล่าง มีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-100 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 25-40 มม. เป็นส่วนใหญ่

สมดุลน้ำ ประเทศไทยมีค่าสมดุลน้ำเป็นลบเป็นส่วนใหญ่ คือ (-10) - (-40) มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ด้านตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออกด้านตะวันออก และภาคใต้ตอนล่าง ที่มีค่าสมดุลน้ำเป็นบวก คือ 1-70 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ และมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงบางแห่ง สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ กับจะมีพายุฝนฟ้าคะนองบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งและปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่กลางแจ้งขณะฟ้าคะนอง และไม่ควรเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆขณะลมแรง สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ควรดูแลโรงเรือนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก หรือฉีดน้ำเป็นฝอยภายในโรงเรือน รวมทั้งจัดหาน้ำดื่มให้กับสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ สำหรับภาคใต้มีฝนและฝนฟ้าคะนองบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืช จำพวกหนอนในไม้ผล ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของต้นพืช เช่น ใบอ่อน ยอดอ่อน และดอก ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ