พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 19 - 25 เมษายน พ.ศ. 2562
ออกประกาศวันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2562
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 47/62
การคาดหมายลักษณะอากาศ ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดหลายพื้นที่ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 19-21 เม.ย. 62 มีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 เม.ย. 62 บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก จะมีพายุฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น และมีลมกระโชกแรงกับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้น
ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนตลอดช่วง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดหลายพื้นที่ ประกอบกับในช่วงวันที่ 19-21 เม.ย. 62 มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และ ภาคกลาง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 เม.ย. 62 ลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น และมีลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ส่วนลมตะวันออที่พัดปกคลุมภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น
คำเตือน ขอให้เกษตรกรบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาวะอากาศร้อน โดยควรหลีกเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้งในตอนกลางวันในระยะสัปดาห์นี้ไว้ด้วย ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 เม.ย. 62 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และลูกเห็บตกไว้ด้วย
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดหลายพื้นที่ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 19-21 เม.ย. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 20-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 39-44 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 เม.ย. 62 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37-41 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-20 กม./ชม.
ความชื้นสัมพัทธ์ 50-60 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ระยะนี้มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย โดยควรหลีกเลี่ยงการทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด และควรดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันร่ายกายขาดน้ำ
- สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน โดยฉีดน้ำเป็นละอองฝอยบริเวณโรงเรือนหรือฉีดน้ำบริเวณหลังคา รวมทั้งจัดหาน้ำให้แก่สัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ
- สำหรับพืชที่ปลูกใหม่และพืชต้นอ่อน เกษตรกรควรพรางแสงให้แก่ต้นพืช เพื่อลดความเข้มของแสง ทำให้การคายระเหยของน้ำลดลง ป้องกันพืชเหี่ยวเฉา
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 19-21 เม.ย. 62 อากาศร้อนถึงร้อนจัดหลายพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 38-42 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 เม.ย. 62 อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-20 กม./ชม.
ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ระยะนี้มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ทำให้น้ำระเหยออกจากแหล่งน้ำมาก เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลจำนวนสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำ เพื่อไม่ให้สัตว์น้ำอยู่อย่างแออัด จนทำให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
- สำหรับฝนที่ตกในระยะนี้มีปริมาณน้อย และไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชเพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสม
- ในช่วงวันที่ 22-24 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งขณะฟ้าคะนอง
ภาคกลาง
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 19-21 เม.ย. 62 อากาศร้อนถึงร้อนจัดหลายพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 38-42 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 เม.ย. 62 อากาศร้อน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 15-20 กม./ชม.
ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ระยะนี้ปริมาณฝนที่ตกมีน้อยกว่าการคายระเหยน้ำของพืชทำให้ความชื้นในดินลดลง เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ต้นพืช เหี่ยวเฉา ถ้าขาดน้ำเป็นเวลานานจะทำให้ต้นพืชตายได้
- สำหรับอากาศร้อนและแห้งในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูก โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ โรงเก็บพืชผลทางด้านการเกษตร และอาคารบ้านเรือน
ภาคตะวันออก
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 19-21 เม.ย. 62 อากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 เม.ย. 62 อากาศร้อน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร
ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ในช่วงวันที่ 22-24 เม.ย. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยตรวจสอบสภาพวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ผูกยึดกิ่งและค้ำยันลำต้นของไม้ผลให้อยู่ในสภาพมั่นคงและแข็งแรงเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
- ระยะนี้ปริมาณน้ำระเหยมีมาก ทำให้ความชื้นในดินลดลง เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน และเป็นการรักษาความชื้นในดิน
ภาคใต้
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 19-21 เม.ย. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 เม.ย. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร
ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 19-21 เม.ย. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 เม.ย. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร
ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- เนื่องจากปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้เหมาะสม เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรตลอดช่วงแล้ง โดยให้น้ำแก่พืชอย่างมีสิทธิภาพ เช่นให้น้ำบริเวณทรงพุ่ม หรือให้น้ำระบบน้ำหยด เป็นต้น รวมทั้งคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำและเป็นการรักษาความชื้นภายในดิน
- สำหรับสภาพอากาศที่ร้อนในตอนกลางวัน ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก รวมทั้งจัดหาน้ำให้แก่สัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันสัตว์อ่อนแอและเจ็บป่วย
ปริมาณฝนสะสมเดือนเมษายน (ในช่วงวันที่ 1-18 เมษายน) บริเวณประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-100 มม.
ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 25 มม. เว้นแต่ภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออกและตอนล่าง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 25-50 มม.
ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักดิ์การคายระเหยน้ำสะสม 30-50 มม. โดยภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนกลางมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่นๆ
สมดุลน้ำ บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำ (-1)-(-50) มม. เว้นแต่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีค่าสมดุลน้ำ 1-20 มม.
คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดและมีรายงานฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน และจะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยไม่ควรเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่และป้ายโฆษณาสูงๆ ขณะลมแรง สำหรับผู้เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้โปร่ง อากาศถ่ายเท ได้สะดวก เพื่อลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน สำหรับภาคใต้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74