พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 22 - 28 เมษายน พ.ศ. 2562

ข่าวทั่วไป Monday April 22, 2019 15:02 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 22 - 28 เมษายน พ.ศ. 2562

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2562

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 48/62

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในระยะนี้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดหลายพื้นที่ โดยในช่วงวันที่ 23-25 เม.ย. บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 26-28 เม.ย. บริเวณประเทศไทยจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นหลายพื้นที่ โดยมีลักษณะพายุฝนฟ้าคะนอง และมีลมกระโชกแรงกับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ส่วนภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนเพิ่มขึ้น

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 23-25 เม.ย. ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 26-28 เม.ย. ลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงกับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น

คำเตือน ระยะนี้อากาศร้อน เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพ โดยหลีกเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้งในตอนกลางวัน สำหรับในช่วงวันที่ 26-28 เม.ย. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก และฟ้าผ่า เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดหลายพื้นที่ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 23-25 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่งส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 20-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 39-44 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 26-28 เม.ย. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37-41 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 50-60 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีพายุฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่แก่ดีแล้ว เกษตรกรควรรีบเก็บเกี่ยว
  • ในช่วงฤดูร้อนเชื้อโรคจะเจริญเติบโตได้เร็ว เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โดยเลือกรับประทานแต่อาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ๆ
  • ส่วนเกษตรกรที่ต้องทำงานกลางแจ้งควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เพื่อป้องกันผิวไหม้เกรียม และดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ
  • ระยะนี้ปริมาณฝนมีน้อย เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด โดยให้น้ำพืชครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้ง หรือให้น้ำพืชในช่วงเย็น เพื่อลดอัตราการสูญเสียน้ำโดยการระเหย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 23-25 เม.ย. อากาศร้อนถึงร้อนจัดหลายพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 38-42 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 26-28 เม.ย. อากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีพายุฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งขณะฟ้าคะนอง
  • สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึงนี้ เกษตรกรควรจัดเตรียมดินเอาไว้ให้พร้อม เมื่อมีฝนตกสม่ำเสมอ และดินมีความชื้นเพียงพอก็จะสามารถปลูกพืชได้ โดยควรหันหัวแปลงปลูกพืชตามทิศทางลม เพื่อให้อากาศถ่ายได้สะดวก ป้องกันและลดความรุนแรงของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 23-25 เม.ย. อากาศร้อนถึงร้อนจัดหลายพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 38-42 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 26-28 เม.ย. อากาศร้อน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 15-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆ ขณะลมแรง
  • เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อน ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน โดยจัดโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน โดยอาจใช้พัดลมดูดและเป่าอากาศเข้าช่วย หรือฉีดน้ำเป็นฝอยบริเวณโรงเรือน และฉีดน้ำบริเวณหลังคา หากทำได้ควรใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ก็จะเป็นการใช้พลังงานสะอาด ลดมลพิษ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 23-25 เม.ย. อากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 26-28 เม.ย. อากาศร้อน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยตรวจสอบวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ผูกยึดกิ่งและค้ำยันลำต้นของไม้ผลให้แข็งแรง หากไม้ผลแก่ดีแล้วควรรีบเก็บเกี่ยวไม่ควรปล่อยไว้ในแปลงปลูกเพราะอาจเสียหายได้
  • สำหรับบางพื้นที่อาจมีฝนตก เกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชควรรอให้มีฝนตกสม่ำเสมอ และดินมีความชื้นเพียงพอ จึงค่อยลงมือปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดน้ำของพืช

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 23-25 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 26-28 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้เป็นช่วงปลายฤดูร้อน ภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะเริ่มมีฝน เกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชควรเตรียมดินให้พร้อมรอจนมีฝนตกสม่ำเสมอแล้วค่อยลงมือปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดน้ำของพืช
  • ส่วนทางฝั่งตะวันออกปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต และผลิดอก ออกผลอย่างเพียงพอ เพราะหากได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ ถ้าขาดน้ำเป็นเวลานานจะทำให้ต้นพืชตาย สูญเสียผลผลิตโดยสิ้นเชิง
  • ในช่วงที่อากาศร้อนบางพื้นที่อาจมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 22 – 28 เม.ย. 2562

ปริมาณฝนสะสมเดือนเมษายน (ช่วงวันที่ 1-21 เม.ย.) ประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่มีปริมาณฝนสะสม 100-150 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 25 มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือตอนบนด้านตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนด้านตะวันออก และภาคใต้ตอนกลางที่มีปริมาณสะสม 25-50 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 30-45 มม. เป็นส่วนใหญ่ โดยบริเวณภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนกลาง มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมสูงกว่าบริเวณอื่นๆ

สมดุลน้ำ ประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำ (-1) - (-50) มม. เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนด้านตะวันออกที่มีค่าสมดุลน้ำเป็นบวก คือ 1-20 มม.

คำแนะนำ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดหลายพื้นที่และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนจะยังคงมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการทำงานหรือกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นต้องอยู่ในที่โล่งเป็นเวลานานควรดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ รวมทั้งในระยะนี้บางพื้นที่จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว และไม่ควรเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่และป้ายโฆษณาสูงๆ ขณะลมแรง สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้โปร่ง อากาศถ่ายเท ได้สะดวก เพื่อลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ