ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ
ระหว่าง 01 กุมภาพันธ์ 2551 - 07 กุมภาพันธ์ 2551
ภาคเหนือ
มีหมอกในตอนเช้า และอากาศเย็นส่วนมากทางตอนบนของภาค สำหรับบริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ในช่วงวันที่ 1-3 ก.พ.จะมีฝนฟ้าคะนองกระจาย กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 4-7 ก.พ. จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ผู้ที่สัญจรต้องเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะ อนึ่ง เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงปลายฤดูหนาว สภาพอากาศจะแปรปรวน เกษตรกรจึงควรดูแลสุขภาพของตนเองและสัตว์เลี้ยงให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีหมอกในตอนเช้าและอากาศเย็น สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว ในช่วงวันที่ 1-3 ก.พ.จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนในช่วงวันที่ 4-7 ก.พ. จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้วไม่ควรตากทิ้งไว้กลางแจ้ง เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้ อย่างไรก็ดีฝนที่ตกมีปริมาณน้อย เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำให้เหมาะสม หากไม่มีแหล่งน้ำก็ควรหลีกเลี่ยงการปลูกพืชในระยะนี้เพราะมีอัตราเสี่ยงสูงในการขาดแคลนน้ำในช่วงที่พืชกำลังเจริญเติบโต
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 1-3 ก.พ.จะมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ส่วนในช่วงวันที่ 4-7 ก.พ.จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ในระยะนี้ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพราะจะทำให้สัตว์ปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ เป็นเหตุให้ติดเชื้อโรคได้ง่าย สำหรับระยะนี้ปริมาณน้ำระเหยมีมาก เกษตรกรควรคลุมบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว หรือหญ้าแห้ง เพื่อรักษาความชื้นดิน
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 1-3 ก.พ.จะมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย กับมีฝนตกหนักบางแห่งตามบริเวณเทือกเขาและชายฝั่ง ส่วนในช่วงวันที่ 4-7 ก.พ. จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ซึ่งจะกัดกินใบและยอดอ่อน ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง นอกจากนี้ เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ตลอดช่วงแล้ง
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆตลอดช่วง ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีเมฆเป็นส่วนมาก และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับบริเวณที่สภาพอากาศแห้ง และยางพาราอยู่ในระยะผลัดใบ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยหลีกเลี่ยงการจุดไฟในบริเวณสวนยางหากมีความจำเป็นควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน สำหรับยางพาราที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตชาวสวนควรไถกลบระหว่างแนวปลูกเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน นอกจากนี้ควรวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพเนื่องจากระยะต่อไปปริมาณฝนจะลดลง อนึ่ง ในช่วงวันที่ 1-3 ก.พ. 51 คลื่นลมในอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีลงไปจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวประมงระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-