พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 8-14 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
ออกประกาศวันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 55/62
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 9-10 พ.ค. 62 ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 11- 14 พ.ค. 62 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางพื้นที่ สำหรับภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองตกต่อเนื่องตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 8-10 พ.ค. 62
ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา บริเวณความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 9-10 พ.ค. 62 ลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 14 พ.ค. 62 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น สำหรับลมตะวันตกยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้ ตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
คำเตือน ในช่วงวันที่ 11 – 14 พ.ค. 62 ขอให้เกษตรกรบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงไว้ด้วย สำหรับในช่วงวันที่ 8 – 10 พ.ค. เกษตรกรบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกให้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกต่อเนื่อง ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 9 - 11 พ.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 14 พ.ค. 62 มีพายุฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ และมีลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37-42 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ในช่วงวันที่ 12-14 พ.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง เกษตรกรควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลให้มีความมั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นล้ม เมื่อมีลมแรง
- สำหรับฝนที่ตกมีปริมาณน้อย และไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช โดยเฉพาะลำไยที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล ชาวสวนควรดูแลให้น้ำเพิ่มเติม เพื่อป้องกันผลผลิตชะงักการเจริญเติบโตและแคระแกร็น รวมทั้งระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืช เช่น หนอนเจาะขั้วผลและมวนลำไย ซึ่งจะทำให้ผลผลิตเสียหายได้
- สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน โดยฉีดน้ำเป็นละอองฝอยบริเวณโรงเรือนหรือฉีดน้ำบริเวณหลังคา รวมทั้งจัดหาน้ำให้แก่สัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 9-10 พ.ค. 62 มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด โดยมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-40 องศาเซลเซียสลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 14 พ.ค. 62 อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีพายุฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียสลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ในช่วงวันที่ 11 – 14 พ.ค. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง เพราะจะทำให้เปียกชื้นเสียหายได้ และไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งขณะที่มีฝนฟ้าคะนอง
- สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึงนี้ ควรจัดเตรียมพื้นที่การเกษตรให้พร้อมก่อน เมื่อมีฝนตกสม่ำเสมอ และดินมีความชื้นเพียงพอจึงทำการเพาะปลูก
ภาคกลาง
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 9 - 11 พ.ค. 62 มีพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 14 พ.ค. 62 มีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ และมีลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37-42 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 15-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ในช่วงวันที่ 12 – 14 พ.ค. 62 จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับอาคารบ้านเรือน และพืชผลการเกษตร โดยหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง เพราะจะทำให้เปียกชื้นเสียหายได้
- สำหรับสภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัดทำให้น้ำระเหยออกจากแหล่งน้ำมาก เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำดูแลจำนวนสัตว์น้ำที่เลี้ยงให้สมดุลกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ หากปริมาณน้ำมีน้อยจะทำให้สัตว์น้ำอยู่อย่างแออัดส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคตะวันออก
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
อากาศร้อน ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 9-10 พ.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 14 พ.ค. 62 มีพายุฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 25-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ในช่วงวันที่ 11 – 14 พ.ค. 62 จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยตรวจสอบสภาพวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ผูกยึดกิ่งและค้ำยันลำต้นของไม้ผลให้อยู่ในสภาพมั่นคงและแข็งแรงเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนผลไม้ที่แก่ดีแล้ว เกษตรกรควรรีบเก็บเกี่ยว ไม่ควรปล่อยไว้ในสวนเพราะอาจร่วงหล่น เสียหายได้
- สำหรับสวนผลไม้ หากในช่วงที่ผ่านมามีผลร่วงหล่นเนื่องจากลมแรง เกษตรกรควรนำไปกำจัดให้ถูกวิธี โดยเผาหรือฝังให้ลึก ไม่ควรกองสุมอยู่ภายในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและศัตรูพืช
ภาคใต้
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 9 – 10 พ.ค. 62 ลมตะวันตก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 11 – 14 พ.ค. 62 ลมตะวันตก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 9 - 10 พ.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 14 พ.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ในช่วงนี้ภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นผลดีกับพืชผลการเกษตรในภาคใต้ฝั่งตะวันออก ที่ขาดแคลนน้ำในช่วงที่ผ่านมา
- ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันตกยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่งเกษตรกรควรระวังอันตรายจากสภาวะดังกล่าว โดยปรับปรุงระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังบริเวณแปลงปลูกเมื่อมีฝนตกหนัก
- จากสภาวะที่มีฝนตกและหยุดสลับกัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
- ในช่วงวันที่ 8-10 พ.ค. 62 ทะเลอันดามัน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74