ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ
ระหว่าง 06 กุมภาพันธ์ 2551 - 12 กุมภาพันธ์ 2551
ภาคเหนือ
มีหมอกในตอนเช้ากับมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อากาศหนาวทางตอนบนของภาค ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น โดยมีฝนบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนมากในช่วงวันที่ 10-12 ก.พ. สำหรับบริเวณ ยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด เกษตรกรควรดูแลสุขภาพของตนเองและสัตว์เลี้ยงให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับบริเวณที่อากาศแห้งควรระวังการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟ รอบพื้นที่เพาะปลูกและอาคารบ้านเรือน ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรฉีดวัคซีนโรคที่จะเกิดในหน้าร้อนให้กับสัตว์เลี้ยง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อากาศเย็น สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว ในช่วงวันที่ 7-9 ก.พ. มีฝนบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนมากทางตอนบนของภาคและอุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 10-12 ก.พ. มีหมอกในตอนเช้าและอุณหภูมิจะสูงขึ้น เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงปลายฤดูหนาว อากาศอาจเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยหากร่างกายปรับตัวไม่ทัน ปริมาณฝนในช่วงนี้อาจจะผันแปรต่อไปเกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำใช้ตลอดหน้าแล้ง
ภาคกลาง
อากาศเย็น ในช่วงวันที่ 8-9 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 10-12 ก.พ.มีหมอกในตอนเช้าและอุณหภูมิจะสูงขึ้น สำหรับผู้ที่ปลูกข้าวนาปรังควรดูแลอย่าให้ขาดน้ำ เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ต้นข้าวชะงักการเจริญเติบโต โดยเฉพาะในช่วงออกรวงจะทำให้ผลผลิตลดลง อนึ่ง ควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัยบริเวณที่อยู่อาศัยและพื้นที่เพาะปลูก
ภาคตะวันออก
อากาศเย็น ในช่วงวันที่ 8-9 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนมากตามบริเวณเทือกเขาและชายฝั่ง โดยอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 10-12 ก.พ.มีหมอกในตอนเช้า กับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง และอุณหภูมิจะสูงขึ้น สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว เกษตรกรไม่ควรตากทิ้งไว้กลางแจ้ง เพราะอาจจะเปียกชื้นเสียหายได้ ส่วนบริเวณที่มีฝนตกเกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ รวมทั้งควรวางแผนการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อจะได้มีน้ำใช้ตลอด ช่วงแล้ง
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ทางฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 8-9 ก.พ.มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ส่วนในช่วงวันที่ 10-12 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึง เป็นแห่งๆตลอดช่วง สำหรับบริเวณที่มีฝนตก เกษตรกรควรกักเก็บน้ำไว้ใช้ในระยะต่อไป ส่วน ชาวสวนผลไม้ควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินดอกและยอดอ่อน ทำให้เสียหาย อนึ่ง ในช่วงวันที่ 7-9 ก.พ. คลื่นลมในอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีลงไปจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-