พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 17 - 23 มิถุนายน พ.ศ. 2562
ออกประกาศวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2562
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 72/62
การคาดหมายลักษณะอากาศ บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนตกต่อเนื่อง โดยในช่วงวันที่ 17-19 มิ.ย. 62 จะมีฝนตกหนักบางแห่ง ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ตลอดช่วง
ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ตลอดช่วง ประกอบกับในช่วงวันที่ 17-19 มิ.ย. 62 จะมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น
คำเตือน ในช่วงวันที่ 17 - 19 มิ.ย. 62 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนประชาชนในภาคเหนือด้านตะวันตกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ควรระวังอันตรายจากน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มไว้ด้วย อนึ่ง ระยะนี้บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 17-19 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 20-23 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- สำหรับปริมาณและการกระจายของฝนจะเริ่มลดลง โดยเฉพาะทางตอนล่างของภาค เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตร ในระยะฝนทิ้งช่วง
- พื้นที่ซึ่งมีฝนลดลง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
- เนื่องจากในระยะที่ผ่านมามีฝนตกชุก วัชพืชต่างๆเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรควรกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อไม่ให้แย่งน้ำและธาตุอาหารจากพืชที่ปลูก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 17-19 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 20-23 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ระยะปลายเดือนนี้ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง โดยเฉพาะทางตอนกลางของภาค เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ
- สำหรับชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนกอ หนอนกระทู้ และหนอนห่อ ใบข้าว เป็นต้น ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อน ทำให้ต้นข้าวเสียหาย ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพได้
- ระยะนี้ เกษตรกรควรกำจัดวัชพืชในพื้นที่เพาะปลูก เพื่อไม่ให้แย่งน้ำและธาตุอาหารของพืชที่ปลูก และเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช เนื่องจากโรคและศัตรูพืชบางชนิดสามารถเจริญเติบโตได้ในวัชพืช
ภาคกลาง
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 17-19 มิ.ย. มีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณ หภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียสลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- สำหรับปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลงเกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตร ในระยะที่มีฝนทิ้งช่วง รวมทั้งวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ
- เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
- เนื่องจากในระยะที่ผ่านมามีฝนตกชุก วัชพืชต่างๆเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรควรกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกเพื่อไม่ให้แย่งน้ำและธาตุอาหารจากพืชที่ปลูก
ภาคตะวันออก
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 17-19 มิ.ย. มีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่ง แล้วทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา ใส่ปุ๋ยเพื่อให้ต้นฟื้นตัว
- ในช่วงที่ฝนลดลง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน ทำให้ต้นพืชเสียหายผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
- ระยะนี้บริเวณอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นสูงประมาณ 2เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ภาคใต้
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 17-19 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 20-23 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนัก บางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณ ที่มีฝน ฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตรตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์80-90 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ระยะนี้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันออก เนื่องจากเป็นด้านรับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
- ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำ ให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคราสีชมพู และโรคหน้ากรีดยาง ในยางพาราโรคราสนิมในกาแฟ เป็นต้น
- ฝนที่ตกในระยะนี้จะเป็นผลดีกับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต และเจริญเติบโตทางผล แต่ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนไว้ด้วย
- ระยะนี้บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง
ปริมาณฝนสะสมเดือนมิถุนายน (ในช่วงวันที่ 1-16 มิถุนายน) ประเทศไทยส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสม 10-200 มม. เว้นแต่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนบริเวณจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ และนครพนม ภาคตะวันออกบริเวณจังหวัดนครนายก จันทบุรี และตราด และภาคใต้ฝั่งตะวันตกตอนบนบริเวณจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ตที่มีปริมาณฝนสะสม 200-400 มม.
ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่บางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออกตอนล่างที่มีปริมาณฝนสะสม 100-300 มม.
ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม ประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-35 มม.
สมดุลน้ำ ประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำ 1-150 มม. เว้นแต่บริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันตก ภาคกลางตอนกลาง และภาคใต้ตอนบนและตอนล่างของภาคที่มีค่าสมดุลน้ำ (-1) - (-40) มม.
คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และฝนตกหนักมากบางแห่ง สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่มควรจัดทำระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง และในช่วงที่มีฝนตกชุกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจาก เชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ อนึ่ง ในช่วงปลายเดือนนี้ถึงช่วงต้นเดือนหน้า บางพื้นที่จะมีฝนลดลงหรืออาจเกิดสภาวะ ฝนทิ้งช่วงได้ ดังนั้นเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานควรกักเก็บน้ำเอาไว้ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางการเกษตรในช่วงดังกล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74