พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 19 – 25 มิถุนายน พ.ศ. 2562
ออกประกาศวันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2562
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 73/62
การคาดหมายลักษณะอากาศ บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนตกน้อยลง ส่วนตะวันออกและภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 23-25 มิ.ย.62 สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ตลอดช่วง
ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้ ส่วนร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศเมียนมา ตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศจีนตอนใต้ ในขณะช่วงวันที่ 19-25 มิ.ย.62 ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนตกน้อยลง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกและภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงตลอดช่วง
คำเตือน ในช่วงวันที่ 23-25 มิ.ย.บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะยังคงมีฝนตกชุกต่อเนื่องและจะมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันอันตรายจากสภาวะฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงตลอดช่วง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยเรือเล็กบริเวณทะเทอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 19-20 มิ.ย.มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 21-25 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ในระยะนี้จะมีฝนลดลง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศํตรูพืชจำพวกหนอน ศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชเสียหายได้
- สำหรับเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงที่มีฝนน้อย เนื่องจากในช่วงปลายเดือนนี้ถึงต้นเดือนหน้าปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลงและอาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงได้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ในช่วงวันที่ 20-25 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ในระยะนี้ ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานควรกักเก็บน้ำเอาใว้ใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงที่มีฝนน้อย เนื่องจากในช่วงปลายเดือนนี้ถึงต้นเดือนหน้าอาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงได้
- ในช่วงที่มีฝนตกน้อย เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนกระทู้ข้าว หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เป็นต้น ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพได้
ภาคกลาง
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกชุกต่อเนื่อง ทำให้วัชพืชต่างๆเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรควรกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อไม่ให้แย่งน้ำและธาตุอาหารจากพืชที่ปลูก
- สำหรับเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน ควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร เนื่องจากในช่วงปลายเดือนนี้ถึงต้นเดือนหน้า ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลงและอาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงได้
ภาคตะวันออก
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากบริเวณชายฝั่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ระยะนี้ยังคงมีฝนตกติดต่อกัน ทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล และโรคใบยางร่วงลูกยางเน่าในยางพารา เป็นต้น
- สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่ง แล้วทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา และใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นฟื้นตัวเร็วขึ้น
- ระยะนี้บริเวณอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
ภาคใต้
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 19-22 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 23-25 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 23-25 มิ.ย. ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
ตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- เนื่องจากในช่วงนี้มีฝนตกต่อเนื่องกันโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตก ทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกยางพาราและกาแฟ ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรค ราสนิมในกาแฟ โรคเส้นดำในยางพารา เป็นต้น
- ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีฝนลดลง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ที่จะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ผลผลิตเสียหายได้
- สำหรับบริเวณทะเลอันดามัน จะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือ ด้วยความระมัดระวัง โดยเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้
ปริมาณฝนสะสมเดือนมิถุนายน (ในช่วงวันที่ 1-18 มิ.ย.) บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนมากมีปริมาณฝนสะสม 25-600 มม. โดยภาคตะวันออกตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 300-600 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีปริมาณฝนสะสม 25-400 มม. โดยภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 200-400 มม.
ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนมากมีปริมาณฝนสะสม 5-400 มม. โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคตะวันออกตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 200-400 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีปริมาณฝนสะสม 5-100 มม. โดยภาคใต้ตอนกลางมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-100 มม.
ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-35 มม. โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่นๆ
สมดุลน้ำ บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำ 1-300 มม. โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคตะวันออกตอนล่างมีค่าสมดุลน้ำ 200-300 มม.
สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำ (-1)-(-30) มม. เว้นแต่ภาคใต้ตอนกลางที่มีค่าสมดุลน้ำ 1-70 มม. คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีรายงานฝนตกหนักหลายพื้นที่กับมีฝนตกหนักมากบางแห่ง
สำหรับในช่วง7 วันข้างหน้า ประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งจะทำให้ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74