พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ข่าวทั่วไป Friday June 28, 2019 14:53 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2562

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 77/62

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 28 มิ.ย. - 1 ก.ค. 62 ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณด้านตะวันตกของภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 2 – 4 ก.ค. 62 บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ตลอดช่วง

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 28 – 30 มิ.ย. 62 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศจีนตอนใต้กับประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง ส่วนในช่วงวันที่ 1 – 4 ก.ค. 62 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังปานกลางที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำเข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง ตลอดช่วง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 2 – 4 ก.ค. 62 ขอให้เกษตรกรบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่ง ตลอดสัปดาห์นี้

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 28 มิ.ย.- 1 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 2 – 4 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับพื้นที่การเกษตรซึ่งเป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรเตรียมป้องกันไม่ให้มีน้ำท่วมขังในแปลงปลูก โดยเฉพาะแปลงนาข้าวที่อยู่ในระยะกล้า ชาวนาควรเสริมคันนาและระบบระบายน้ำออกจากแปลงนา เพื่อป้องกันน้ำท่วมต้นกล้าเมื่อเกิดฝนตกหนัก
  • ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ให้อับชื้นเพี่อป้องกันสัตว์อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคหวัดในสัตว์ปีกและสุกร รวมทั้งดูแลสุขภาพสัตว์ให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 28 มิ.ย.- 1 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 2 – 4 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 2-4 ก.ค. จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีตกหนักบางพื้นที่ ทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เหมาะแก่การระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ และพืชผัก เกษตรกรควรดูแลแปลงปลูกให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งดูแลสัตว์เลี้ยงให้แข็งแรงป้องกันการเจ็บป่วย และหมั่นสังเกตหากพบสัตว์ที่ป่วยควรรีบแยกออกจากกลุ่มและทำการรักษา เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังตัวอื่นๆ

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 28 มิ.ย.- 1 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 2 – 4 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 2-4 ก.ค. จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับผลผลิตทางการเกษตร โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังแปลงปลูกเมื่อมีฝนตกหนัก นอกจากนี้เกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน ควรเก็บกักน้ำไว้ใช้ด้านการเกษตรในระยะต่อไปด้วย
  • ระยะนี้จะมีฝนตกสลับกับมีอากาศร้อนในบางวัน ซึ่งสภาพอากาศ เหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ใน พืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่งทำให้สภาพอากาศ และดินมีความชื้นสูง ชาวสวนไม้ผลควรดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดส่องถึงโคนต้นเพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า ส่วนไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เช่น เงาะ ทุเรียน และลองกอง เกษตรกรควรรีบตัดแต่งกิ่งและขั้วผล เพื่อให้ต้นฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และควรทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา
  • ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรงตลอดช่วง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมง ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 28 มิ.ย.- 2 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 3 – 4 ก.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ตั้งแต่จังวัดกระบี่ลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ดินและอากาศ มีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกกาแฟและยางพาราควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสนิมในกาแฟ โรครากขาว และโรคเส้นดำ ในยางพารา เป็นต้น หากพบโรคดังกล่าวควรรีบควบคุมโรค เพื่อไม่ให้ระบาดเป็นบริเวณกว้าง
  • ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรระวัง ป้องกันโรคผลเน่าในทุเรียน เงาะ และลองกองเป็นต้น รวมทั้งการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนที่จะกัดกินทำให้ผลผลิตลดลงและเสียหาย
  • สำหรับบริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือ ด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 28 มิ.ย. – 4 ก.ค. 2562

ปริมาณฝนสะสมเดือนมิถุนายน (ในช่วงวันที่ 1-27 มิถุนายน) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสม 25-800 มม. โดยภาคตะวันออกตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 400-800 มม. สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสม 50-600 มม. โดยภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 200-600 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. เว้นแต่ภาคตะวันออกตอนล่าง มีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 100-300 มม. สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. เว้นแต่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 100-200 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยมีค่าศักดิ์การคายระเหยน้ำสะสม 20-40 มม. โดยภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่นๆ

สมดุลน้ำ บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำ (-1)-(-40) มม. ส่วนภาคภาคตะวันออกตอนล่างมีค่าสมดุลน้ำ 70-200 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำ 1-200 มม. ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีค่าสมดุลน้ำ 40-200 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีรายงานฝนตกหนักหลายพื้นที่กับมีฝนตกนักมากบางแห่ง สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งจะทำให้ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ