พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 13 กุมภาพันธ์ 2551 - 19 กุมภาพันธ์ 2551

ข่าวทั่วไป Wednesday February 13, 2008 14:15 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ 
ระหว่าง 13 กุมภาพันธ์ 2551 - 19 กุมภาพันธ์ 2551
ภาคเหนือ
มีหมอกในตอนเช้า กับมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อากาศเย็น สำหรับบริเวณยอดดอยมีอากาศหนาว โดยจะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนมากในช่วงวันที่ 13-14 ก.พ. เกษตรกรควรระวังความเสียหาย ที่จะเกิดกับผลผลิตทางการเกษตรเนื่องจากฝน รวมทั้งควรเพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการ ขับขี่ยานพาหนะขณะสัญจรผ่านบริเวณทีมีหมอกหนา ส่วนไม้ผลที่กำลังติดผลอ่อน ชาวสวนควรดูแลให้น้ำอย่างเพียงพอ รวมทั้งระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดชนิดต่างๆด้วย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีหมอกบางในตอนเช้า ในช่วงวันที่ 13-15 และ 18-19 ก.พ. มีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1-4 และ1-3 องศาเซลเซียส ตามลำดับ อากาศหนาวทางตอนบนของภาค ส่วนทางตอนล่างอากาศเย็น สำหรับบริเวณยอดภูอากาศหนาว เกษตรกรควรดูแลสุขภาพของตนเองและสัตว์เลี้ยงให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เนื่องจากระยะนี้อากาศแห้งและมีลมแรง ดังนั้น ผู้ที่จุดไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งานเพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย
ภาคกลาง
มีหมอกบางในตอนเช้าและมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนมากในช่วงวันที่ 13-14 และ18-19 ก.พ. สำหรับในช่วงวันที่ 13-15 ก.พ. อากาศเย็น ส่วนในช่วงวันที่ 16-17 ก.พ.อุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อยกับมีหมอกหนาในบางพื้นที่ในตอนเช้า ระยะนี้แม้จะมีฝนตกแต่ปริมาณน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช ดังนั้นเกษตรกรควรดูแลให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืช เช่น ไม้ดอก ผัก และพืชไร่ที่กำลังเจริญเติบโต นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของเพลี้ยชนิดต่างๆ
ภาคตะวันออก
มีหมอกบางในตอนเช้า และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนมากตามบริเวณเทือกเขาและชายฝั่งเกือบตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 13-15 ก.พ.อากาศเย็นทางตอนบนของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 16-17 ก.พ. อุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อยกับมีหมอกหนาบางพื้นที่ในตอนเช้า เนื่องจากปริมาณฝนที่ตก ในระยะนี้มีน้อย เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชเพิ่มเติมโดยเฉพาะไม้ผลหรือไม้ยืนต้นที่ยังเล็กและทำ ร่มเงาพรางแสง เพื่อป้องกันการเหี่ยวเฉา ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลอย่าให้อุณหภูมิและปริมาณน้ำเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพราะจะทำให้สัตว์ปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเจ็บป่วยได้ง่าย
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ทางฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ตลอดช่วง ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกือบตลอดช่วง เนื่องจากระยะนี้ปริมาณฝนที่ตกมีน้อย สำหรับพืชผักที่กำลังเจริญเติบโต เกษตรกรควรดูแลให้น้ำอย่างเพียงพอ และนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรคลุมโคนต้นเพื่อสงวน ความชื้นในดิน รวมทั้งระวังป้องกันการระบาดของเพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ด้วย อนึ่ง ในช่วงวันที่ 13-15 และ 18-19 ก.พ. ในอ่าวไทยโดยเฉพาะทางตอนล่างตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีลงไปจะมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ผู้ที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งควรระวังความเสียหายเนื่องจากสภาวะดังกล่าว ส่วนชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ