พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 31 กรกฎาคม – 6 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ข่าวทั่วไป Wednesday July 31, 2019 14:11 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 6 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ออกประกาศวันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 91/62

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 31 ก.ค. - 6 ส.ค. 62 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงวันที่ 31 ก.ค. - 3 ส.ค. 62 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก สำหรับบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 31 ก.ค. - 6 ส.ค. 62 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับ มีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น อนึ่ง พายุโซนร้อน “วิภา” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 1 – 2 ส.ค. 62 ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักบางแห่ง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 31 ก.ค. - 3 ส.ค. 62 ขอให้เกษตรกรบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ โดยหลีกเลี่ยงการเดินเรือผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 6 ส.ค. 62

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในช่วงวันที่ 31 ก.ค. – 3 ส.ค.62 อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 31 ก.ค. - 3 ส.ค. 62 จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยเฉพาะตอนบนของภาค ซึ่งอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากได้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก ส่วนทางตอนล่างของภาคจะเป็นผลดีต่อพืชที่ขาดน้ำในช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางการเกษตรในช่วงที่มีฝนน้อย
  • เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนกระทู้ หนอนเจาะลำต้น และหนอนเจาะฝัก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 31 ก.ค. - 2 ส.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 3 - 6 ส.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยเฉพาะตอนบนและด้านตะวันออกของภาค เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก
  • สำหรับฝนที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เกิดน้ำท่วมขังบางพื้นที่ ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรหลีกเลี่ยงการปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ เช่น โคและกระบือ เป็นต้น

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีการกระจายของฝนเพิ่มมากขึ้น จะเป็นผลดีกับพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต แต่ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ซึ่งมักระบาดในช่วงที่ดินและอากาศมีความชื้นสูง รวมทั้งควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางการเกษตรในช่วงที่มีฝนน้อย
  • เกษตรกรที่ปลูกอ้อย ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน โดยเฉพาะหนอนกออ้อย และจักจั่น เป็นต้น ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินทำลายลำต้นและใบ ทำให้ต้นอ้อยได้รับความเสียหาย

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 31 ก.ค. – 3 ส.ค.62 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งชาวสวนไม้ผลในที่ลุ่มควรดูแลระบบระบายน้ำในสวนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังแปลงปลูกเมื่อมีฝนหนัก รวมทั้งระวังโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะรากเน่าโคนเน่า
  • ระยะนี้บริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 31 ก.ค. – 2 ส.ค.62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 3 – 6 ส.ค.62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส

ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 1 - 6 ส.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส

ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งจะเป็นผลดีกับพืชที่ขาดน้ำในช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางการเกษตรในช่วงที่มีฝนน้อย
  • ในช่วงที่มีฝนตกและหยุดสลับกัน เกษตรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนเจาะลำต้น หนอนเจาะผลในทุเรียน หนอนหัวดำ และหนอนปลอกเล็กในปาล์มน้ำมัน เป็นต้น
  • ระยะนี้บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน จะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง

รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 31 ก.ค. – 6 ส.ค. 2562

ปริมาณฝนสะสมเดือนกรกฎาคม (ในช่วงวันที่ 1-30 ก.ค.) ประเทศไทยส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 200 มม. เว้นแต่บริเวณภาคเหนือด้านตะวันตกตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออก ภาคกลางตอนล่างด้านตะวันออก ภาคตะวันออกด้านตะวันออกตอนล่าง และภาคใต้ฝั่งตะวันตกตอนบนที่มีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 200-800 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ภาคเหนือตอนบนด้านตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างด้านตะวันออก และภาคตะวันออกด้านตะวันออกตอนล่าง ที่มีปริมาณฝนสะสม 100-200 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-35 มม.

สมดุลน้ำ บริเวณประเทศไทยมีค่าสมดุลน้ำ 1-100 มม. เว้นแต่บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันตก ตอนล่าง ภาคกลางตอนกลาง ภาคตะวันออกด้านตะวันตก ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบนและตอนกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตกตอนล่าง ที่มีค่าสมดุลน้ำ (-1)-(-30) มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า บริเวณประเทศไทยจะยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง พื้นที่ซึ่งมีค่าสมดุลน้ำเป็นลบคือบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันตกตอนล่าง ภาคกลางตอนกลาง ภาคตะวันออกด้านตะวันตก ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบนและตอนกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตกตอนล่าง เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันพืชขาดน้ำ อาจส่งผลให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ส่วนพื้นที่ซึ่งมีฝนตก เกษตรกรควรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักไว้ด้วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรสำรวจโรงเรือนเลี้ยงสัตว์และซ่อมแซมโรงเรือนให้มั่นคงแข็งแรงหลังคาอย่าให้รั่วซึม แผงกำบังฝนสาดให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยง เปียกฝน หนาวเย็น จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย พื้นที่ซึ่งมีฝนตกเกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตรไว้ด้วย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ