พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 2 – 8 สิงหาคม พ.ศ. 2562
ออกประกาศวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2562
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 92/62
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 2 - 8 ส.ค. 62 ประเทศไทยจะมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 2 - 5 ส.ค. 62 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ลาว และเวียดนามตอนบนเข้าสู่พายุโซนร้อน “วิภา” ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย และในช่วงวันที่ 6 - 8 ส.ค. 62 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น อนึ่ง พายุโซนร้อน “วิภา” ปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ย กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและเคลื่อนเข้าสู่ประเทศลาวในช่วงวันที่ 3-4 ส.ค. 62 และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นและหย่อมความกดอากาศต่ำ ตามลำดับ
คำเตือน ในช่วงวันที่ 2 - 4 ส.ค. บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ โดยหลีกเลี่ยงการเดินเรือผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งตลอดช่วง(2 - 8 ส.ค.)
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- สำหรับพื้นที่ซึ่งมีน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมา หากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรพื้นฟูแปลงปลูกและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม
- สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ยังคงทำได้เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้นกว่าเดือนที่ผ่านมา แต่ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล พืชผักและข้าวนาปี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำให้เหมาะสม กับชนิดของสัตว์น้ำ และดูแลจำนวนสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ หากปริมาณน้ำมีน้อยจะทำให้สัตว์น้ำอยู่อย่างแออัด ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
- ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลซ่อมแซมโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้มีความมั่นคงแข็งแรง หลังคาอย่าให้รั่วซึม แผงกำบังฝนสาดอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติ เพื่อป้องกันสัตว์เปียกฝน หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
- สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ยังคงทำได้เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้นกว่าเดือนที่ผ่านมา
ภาคกลาง
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียสลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- พื้นที่การเกษตรที่มีฝนตกน้อยและปริมาณน้ำระเหยมีมากทำให้น้ำในดินลดลง เกษตรกรควรดูแลให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ เพราะหากขาดน้ำจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
- ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลซ่อมแซมโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้มีความมั่นคงแข็งแรง หลังคาอย่าให้รั่วซึม แผงกำบังฝนสาดให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติ เพื่อป้องกันสัตว์เปียกฝน หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคตะวันออก
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- พื้นที่ซึ่งมีฝนตกชุก เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคใบยางร่วงลูกยางเน่าในยางพารา โดยดูแลพื้นที่เพาะปลูกให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นสะสม ในแปลงปลูก
- เนื่องจากฝนที่ตกและหยุดตกสลับกนั ในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินใบและยอดอ่อนของพืชทำ ให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
ภาคใต้
พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตรบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
- ระยะนี้ภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีกับพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต แต่ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินใบอ่อนและยอดอ่อนของพืช
- สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่และเก็บเกี่ยว เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้เปลือกและผลที่ร่วงหล่นเน่าเสียกองอยู่ภายในบริเวณสวนเพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช
- ระยะนี้บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน จะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง
ปริมาณฝนสะสมเดือนสิงหาคม (ในวันที่ 1 ส.ค.) ประเทศไทยส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. โดยปริมาณฝนส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณด้านตะวันตกของประเทศ
ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. เป็นส่วนใหญ่ เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือตอนบนด้านตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออกที่มีปริมาณฝนสะสม 100-200 มม.
ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 20-35 มม. โดยบริเวณภาคกลางตอนล่างด้านตะวันออก ภาคตะวันออกด้านตะวันตก และภาคใต้ตอนกลางมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมสูงกว่าบริเวณอื่นๆ
สมดุลน้ำ บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำเป็นบวกคือ 1-150 มม. เว้นแต่บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันตก ภาคกลาง และภาคตะวันออกตอนบนที่มีค่าสมดุลน้ำเป็นลบ คือ (-1)-(-40) มม. สำหรับภาคใต้ส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำเป็นลบคือ (-1)-(-30) มม. เว้นแต่ในบางพื้นที่บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกตอนบนที่มีค่าสมดุลน้ำเป็นบวก 1-70 มม.
คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ กับมีฝนตกหนักมากบางแห่ง สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนจะมีปริมาณและการกระจายของฝนเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวไว้ด้วย สำหรับเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางการเกษตรในช่วงที่มีฝนน้อย รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74