พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 18 กุมภาพันธ์ 2551 - 24 กุมภาพันธ์ 2551

ข่าวทั่วไป Monday February 18, 2008 14:11 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ 
ระหว่าง 18 กุมภาพันธ์ 2551 - 24 กุมภาพันธ์ 2551
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 19-21 ก.พ. มีหมอกในตอนเช้า โดยจะมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆส่วนมากทางตอนบนของภาค อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อากาศหนาวทางตอนบนของภาค ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น สำหรับบริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ในช่วงวันที่ 22-24 ก.พ.อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส เนื่องจากระยะนี้อุณหภูมิกลางวันและกลางคืนแตกต่างกันมากอาจส่งผลให้เจ็บป่วยได้ง่าย เกษตรกรจึงควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง สำหรับผู้ที่ปลูกพืชผักและไม้ดอก ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคราน้ำค้างซึ่งจะทำให้พืชเสียหาย ผลผลิตลดลง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 19-21 ก.พ. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส และมีลมแรง โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ สำหรับบริเวณยอดภูมีอากาศหนาว ในช่วงวันที่ 22-24 ก.พ.มีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส ช่วงนี้ฤดูกาลจะเริ่มเปลี่ยนแปลงจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน อุณหภูมิผันผวนมาก อาจส่งผลให้เกษตรกรและสัตว์เลี้ยงหากปรับตัวไม่ทัน ร่างกายจะอ่อนแอและเจ็บป่วยได้ง่าย จึงควรดูแลสุขภาพของตนเองและสัตว์เลี้ยงให้แข็งแรง สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ตลอดช่วงแล้ง
ภาคกลาง
มีหมอกในตอนเช้าและมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆตลอดช่วง อากาศเย็นทางตอนบนของภาค ในช่วงวันที่ 19-21 ก.พ.อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 ก.พ.อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส เนื่องจากระยะนี้ปริมาณน้ำระเหยมาก เกษตรกรจึงควรให้น้ำพืชอย่างเหมาะสม เพราะหากขาดน้ำจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลปริมาณน้ำให้สมดุลกับปริมาณสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ง่าย
ภาคตะวันออก
มีหมอกในตอนเช้า และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ส่วนมากตามบริเวณเทือกเขาและชายฝั่งตลอดช่วง อากาศเย็นทางตอนบนของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 19-21 ก.พ. อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 22-24 ก.พ.อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะผลอ่อน เกษตรกรควรดูแลให้น้ำอย่างเพียงพอ เพราะหากขาดน้ำในระยะนี้จะทำให้ผลชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตด้อยคุณภาพ นอกจากนี้ควรตัดผลที่เน่าเสีย แมลงกัดกิน และเติบโตไม่ได้ขนาดทิ้ง เพื่อไม่ให้แย่งน้ำและอาหาร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆตลอดช่วง ส่วนในช่วงวันที่ 22-24 ก.พ. จะมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ สำหรับบริเวณตอนบนของภาคซึ่งมีฝนตกน้อย เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชอย่างเหมาะสม รวมทั้งไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอก เช่น มังคุดและทุเรียน โดยหากเห็นดอกชัดเจนแล้วจึงให้น้ำโดยเริ่มจากปริมาณน้อยๆแล้วค่อยเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ สำหรับบริเวณสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยหลีกเลี่ยงการจุดไฟในสวนหากจำเป็นควรดับให้สนิททุกครั้งหลังใช้งาน อนึ่ง ในช่วงวันที่ 19-21 ก.พ. ขอให้ชาวประมงโดยเฉพาะในอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไประมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ