พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า 2 - 8 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ข่าวทั่วไป Monday December 2, 2019 15:09 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 2 - 8 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2562

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 144/62

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 3 - 8 ธ.ค. 62 ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิลดลงกับมีลมแรง โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลง 8-10 องศาเซลเซียส บริเวณพื้นราบอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-15 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณยอดดอยและยอดภูจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดและมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 1-9 องศาเซลเซียส สำหรับภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 6-8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 15-20 องศาเซลเซียส สำหรับภาคใต้จะมีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังแรงอย่างต่อเนื่อง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ตลอดช่วง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 3 – 8 ธ.ค. คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรง เกษตรกรที่อยู่บริเวณชายฝั่งควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งตลอดช่วง สำหรับบริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศหนาวเย็น เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในวันที่ 2 ธ.ค. 62 บริเวณพื้นราบมีอากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 15-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-10 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 3 - 8 ธ.ค. 62 อุณหภูมิจะลดลง 8-10 องศาเซลเซียส บริเวณพื้นราบมีอากาศหนาวกับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 11-15 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 25-29 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดกับมีน้ำค้างแข็ง อุณหภูมิต่ำสุด 1-9 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

  • ระยะนี้อากาศหนาวเย็น เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวอากาศจมตัว เกษตรกรไม่ควรเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพราะควันไฟจะลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้ยาก แต่จะแผ่ปกคลุมบริเวณข้างเคียง ทำให้ทัศนวิสัยลดลง เป็นอุปสรรคต่อการสัญจร และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ สำหรับบริเวณยอดดอยจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดกับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางด้านการเกษตร

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 3 – 4 ธ.ค. 62 อุณหภูมิจะลดลง 4-8 องศาเซลเซียส บริเวณพื้นราบมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรงอุณหภูมิต่ำสุด 12-17 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 25-29 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูจะมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 5-10 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 8 ธ.ค. 62 อุณหภูมิจะลดลงอีก 2-4 องศาเซลเซียส บริเวณพื้นราบ มีอากาศหนาวกับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 11-15 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 25-28 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-10 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

  • ในช่วงนี้จะมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับเกษตรกรที่จุดไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยงควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหาร เนื่องจากอุณหภูมิที่ลดลงสัตว์น้ำจะกินอาหารได้น้อย อาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย สัตว์น้ำจะอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่ายและเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ส่วนในช่วงวันที่ 3 - 8 ธ.ค. 62 อุณหภูมิจะลดลง 4-6 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นถึงหนาวและมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 15-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-30 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับปริมาณฝนที่มีน้อย ประกอบกับปริมาณน้ำระเหยมีมากทำให้ปริมาณน้ำในดินลดลง เกษตรกรควรดูแลให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชอย่างเหมาะสม เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ ถ้าขาดน้ำเป็นเวลานานจะทำให้ต้นพืชตายสญูเสีย ผลผลิต โดยสิ้นเชิง สำหรับสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตร และอาคารบ้านเรือน

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 3 - 8 ธ.ค. 62 อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 16-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-30 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

  • สำหรับสภาพอากาศที่แห้งและบางช่วงมีลมแรง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูก อาคารบ้านเรือน และโรงเก็บพืชผลทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะสวนยางพาราซึ่งจะเป็นเชื้อไฟที่ดี เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการจุดไฟหากมีความจำเป็นต้องจุดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน เพื่อป้องกันไฟลุกลาม เนื่องจากระยะนี้น้ำระเหยมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อรักษาความชื้นภายในดินและรักษาอุณหภูมิดิน

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 3 - 8 ธ.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรขึ้นมาลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-45 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-4เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ฝั่งตะวันตก ในวันที่ 3 ธ.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 4 - 8 ธ.ค. 62 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย ส่วนชาวสวนผลไม้ควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องได้ทั่วถึงเพื่อลดความชื้นในแปลงปลูก ป้องกันและลดความรุนแรงของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา อนึ่ง ระยะนี้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทย และทะเลอันดามันห่างฝั่งจะมีกำลังแรง เกษตรกรที่อยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกควรระวังและป้องกันคลื่นลมแรงซัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่ง
ลักษณะอากาศในช่วง7วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2562 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ตลอดสัปดาห์ โดยในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนได้แผ่เสริมลงมาปกคลุมบริเวณดังกล่าว ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงตลอดสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ ส่วนภาคอื่นๆ มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ส่วนมากในระยะต้นสัปดาห์ สำหรับภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปมีฝนกับฝนหนักถึงหนักมากบางพื้นที่

ภาคเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีรายงานน้ำค้างแข็งบริเวณยอดดอยอินทนนท์ในวันที่ 26 และ 27 พ.ย. โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในวันที่ 1 ธ.ค.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ในวันที่ 25, 26 และ 29 พ.ย. สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูนั้นมีอากาศหนาว ภาคกลาง มีอากาศเย็นทั่วไปในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นในบางพื้นที่ ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในวันที่ 27 พ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นในบางพื้นที่ โดยตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปมีฝนอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 65-80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง และมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดนราธิวาสในวันที่ 30 พ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นบางพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 27, 29 และ 30 พ.ย. มีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่

สัปดาห์ที่ผ่านมาภาคใต้มีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดสุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช และนราธิวาส ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ ชุมพร พัทลุง สงขลา ปัตตานี พังงา และตรัง โดยวัดปริมาณฝนสูงสุด ได้ 353.4 มิลลิเมตร ที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 30 พ.ย.62

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ