พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 03 มีนาคม 2551 - 09 มีนาคม 2551

ข่าวทั่วไป Monday March 3, 2008 16:00 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ 
ระหว่าง 03 มีนาคม 2551 - 09 มีนาคม 2551
ภาคเหนือ
มีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียสทำให้มีอากาศหนาวทางตอนบนของภาค ส่วนทางตอนล่างมีอากาศเย็น สำหรับบริเวณยอดดอยมีอากาศหนาว ในช่วงวันที่ 4-6 มี.ค.จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆทางตอนบนของภาค ระยะนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล ร่างกายอาจปรับตัวไม่ทัน เกษตรกรจึงควรรักษาสุขภาพของตนเองและสัตว์เลี้ยงให้แข็งแรงโดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็กเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับไม้ผลที่ติดผลแล้วควรระวังและป้องกันหนอนเจาะขั้วผล ที่อาจระบาดได้ในช่วงนี้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีหมอกบางในตอนเช้า อากาศหนาวทางตอนบนของภาค ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น สำหรับบริเวณยอดภูมีอากาศหนาว ในช่วงวันที่ 3-4 มี.ค. อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส เนื่องจากระยะนี้อากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยดับไฟให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน นอกจากนี้ควรให้น้ำแก่พืชอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ขาดฝนต่อเนื่อง
ภาคกลาง
อากาศเย็น และมีหมอกในตอนเช้า เนื่องจากอุณหภูมิระหว่างวันแตกต่างกันมาก เกษตรกรจึงควรดูแลอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงมาก หากสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน ก็จะอ่อนแอและเจ็บป่วยได้ง่าย สำหรับส้มโอที่อยู่ในระยะติดผลอ่อน เกษตรกรควรให้น้ำในระยะนี้อย่างเพียงพอ เพราะหากขาดน้ำจะทำให้การติดผลลดลง
ภาคตะวันออก
อากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้า สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะติดผล เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด ซึ่งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ผลชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตด้อยคุณภาพ นอกจากนี้ควรทำร่มเงาให้แก่พืชที่ปลูกใหม่ และคลุมบริเวณแปลงปลูกด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อรักษาความชื้นดิน
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ในช่วงวันที่ 3-5 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ ต่อจากนั้นจะมีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่งตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีลงไปถึงนราธิวาส ในช่วงที่มีฝนตกหนักโดยเฉพาะทางตอนล่างของภาค เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนตกหนัก ส่วนชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา อนึ่ง ในช่วงนี้คลื่นลมในอ่าวไทยโดยเฉพาะตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปจะมีกำลังแรงโดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ผู้ที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหาย ส่วนชาวประมงขอให้ระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ