พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งระหว่าง 05 มีนาคม 2551 - 11 มีนาคม 2551

ข่าวทั่วไป Wednesday March 5, 2008 15:07 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ 
ระหว่าง 05 มีนาคม 2551 - 11 มีนาคม 2551
ภาคเหนือ
มีหมอกในตอนเช้า อากาศหนาวทางตอนบนของภาค ส่วนทางตอนล่างมีอากาศเย็น สำหรับบริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ส่วนในช่วงวันที่ 5-6 มี.ค.จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆกับมีลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ส่วนมากทางตอนบนของภาค อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส สำหรับในพื้นที่ซึ่งมีฝนฟ้าคะนองอาจเกิดสภาวะลมกระโชกแรง เกษตรกรจึงควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการฉีกหักและโค่นล้ม สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนควรควบคุมอุณหภูมิอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเพราะอาจทำให้สัตว์ปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและติดเชื้อโรคได้ง่าย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีหมอกบางในตอนเช้า อากาศหนาวทางตอนบนของภาค ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น สำหรับบริเวณยอดภูมีอากาศหนาว ในช่วงวันที่ 7-8 มี.ค.จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆส่วนมากทางตอนล่างของภาค และในช่วงวันที่ 9-11 มี.ค.อุณหภูมิสูงจะขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิอากาศค่อนข้างแปรปรวน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพของตนเองและสัตว์เลี้ยงให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับข้าวนาปรังที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตไม่ควรขาดน้ำเพราะจะทำให้ต้นข้าวชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง นอกจากนี้ ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรเตรียมฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่มักเกิดในหน้าร้อนให้กับสัตว์เลี้ยง
ภาคกลาง
อากาศเย็น และมีหมอกในตอนเช้า ในช่วงวันที่ 7-8 มี.ค.จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ และในช่วงวันที่ 9-11 มี.ค. อุณหภูมิสูงขึ้น สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเพราะอาจทำให้สัตว์ปรับตัวไม่ทัน รวมทั้งควรปรับปริมาณน้ำและจำนวนสัตว์ที่เลี้ยงให้มีความสมดุล เพื่อป้องกันสัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย ส่วนพืชไร่ที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต เกษตรกรควรให้น้ำอย่างเพียงพอ
ภาคตะวันออก
อากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้า ในช่วงวันที่ 7-8 มี.ค.จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ และในช่วงวันที่ 9-11 มี.ค. อุณหภูมิสูงขึ้น เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรอย่างพอเพียงในช่วงแล้ง อนึ่ง ระยะนี้สภาพอากาศแห้งน้ำจะระเหยมาก เกษตรกรจึงควรคลุมบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เพื่อรักษาความชื้นดิน
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ และในช่วงวันที่ 7-9 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองกระจาย และมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีลงไปถึงนราธิวาส บริเวณที่มีฝนตก เกษตรกรควรเก็บกักสำรองน้ำเอาไว้ใช้ต่อไป ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอก หากเห็นดอกชัดเจนจึงควรเริ่มให้น้ำโดยเริ่มจากน้อยๆแล้วค่อยเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ การขาดน้ำในช่วงนี้จะทำให้การติดผลลดลง อนึ่ง ในช่วงนี้คลื่นลมในอ่าวไทยโดยเฉพาะตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปจะมีกำลังแรงโดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ผู้ที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งจึงควรระวังและป้องกันความเสียหาย ส่วนชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ