พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า 20 – 26 มกราคม พ.ศ.2563

ข่าวทั่วไป Monday January 20, 2020 13:54 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 20 – 26 มกราคม พ.ศ.2563

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ.2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 9/63

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 20-23 ม.ค.63 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาว โดยบริเวณภาคเหนือจะมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง สำหรับบริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-15 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกตามบริเวณชายฝั่ง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ สำหรับภาคใต้ จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 24-26 ม.ค. 63 ภาคเหนือตอนบนอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ส่วนภาคอื่นๆ มีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า

คำเตือนในช่วงวันที่ 20-23 ม.ค. บริเวณภาคเหนือจะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง เกษตรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับบริเวณอ่าวไทยตอนล่างจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ ส่วนในช่วงวันที่ 24-26 ม.ค. บริเวณภาคเหนืออุณหภูมิจะลดลง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพเนื่องจากอากาศที่เปลี่ยน

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 20-21 ม.ค.63 จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง อุณหภูมิต่ำสุด 12-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-14 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 22-26 ม.ค.63 อากาศเย็นถึงหนาว และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศา อุณหภูมิต่ำสุด 10-21 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดและมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 2-12 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

  • อากาศเย็นถึงหนาว เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ปีกควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย อนึ่งในช่วงวันที่ 20-21 ม.ค. มีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 20-21 ม.ค.63 อากาศเย็นถึงหนาว และอุณหภูมิลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 15-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ในช่วงวันที่ 22-26 ม.ค.63 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

  • อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และควรเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกหนา จากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งในตอนกลางวัน เกษตกรควรนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางเกษตรมาคลุมบริเวณแปลงปลูกหรือบริเวณโคนต้นพืช เพื่อชะลอการระเหยของน้ำบริเวณผิวดินและยังเป็นการรักษาอุณหภูมิดิน รวมทั้งควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัยไว้ด้วย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 20-21 ม.ค.63 เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 22-26 ม.ค.63 เมฆบางส่วนกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

  • มีเมฆเป็นส่วนมากกับมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรเพิ่มความระมัดระวังขณะสัญจรผ่านในบริเวณที่มีหมอกหนา รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหาย เนื่องจากหมอกและน้ำค้างได้ นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคราดำในมะม่วง โดยมักพบคราบราสีดำติดตามส่วนต่างๆ ของลำต้น เช่น ใบ ยอด ช่อดอก เป็นต้น

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

เมฆเป็นส่วนมากโดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

  • มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตไว้กลางแจ้ง เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้ ส่วนในตอนกลางวันอากาศร้อนและแห้ง ทำให้ปริมาณการระเหยของน้ำบริเวณผิวดินมีมาก เกษตรกรควรนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาคลุมบริเวณแปลงปลูกหรือบริเวณโคนต้นพืช เพื่อชะลอการระเหยของน้ำ และยังเป็นการรักษาอุณหภูมิดิน และควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 20-22 ม.ค.63 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 23-26 ม.ค.63 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชขึ้นมา ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ตั้งแต่จังหวัดสงขลาลงไป ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 20-22 ม.ค.63 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 23-26 ม.ค.63 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ระยะนี้มีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ตลอดช่วง เกษตรควรกักเก็บน้ำและวางแผนการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง รวมทั้งควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่และไม้ผล ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนอ่อนของพืช ทำให้พืชทรุดโทรมและผลผลิตด้อยคุณภาพ อนึ่ง ในช่วงวันที่ 20-22 ม.ค. บริเวณอ่าวไทยตอนล่างจะมีคลื่นลมแรง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 13-19 มกราคม 2563 บริเวณความกดอากาศสูงปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือตลอดสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวทางตอนบนของภาคเหนือ ส่วนภาคอื่นๆ มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ สำหรับฝนในช่วงนี้ได้รับอิทธิพลจากลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคุลมภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้มีฝนตกบริเวณดังกล่าว ส่วนภาคใต้และอ่าวไทยลมตะวันออกที่พัดปกคลุมมีกำลังแรงขึ้นในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ทำให้มีฝนตกบางพื้นที่ส่วนมากทางฝั่งตะวันออกของภาค

ภาคเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ทางตอนบนของภาค สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในวันที่ 19 ม.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไปตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ในวันที่ 13 ม.ค. สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาว ภาคกลาง มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ส่วนมากทางตอนบนของภาค โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในวันแรกของสัปดาห์ ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 5-20 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งบริเวณชายฝั่งของภาคในระยะครึ่งแรกและวันสุดท้ายของสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 35 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 19 ม.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นมีอากาศเย็นหลายพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 10-25 ของพื้นที่ในวันแรกและปลายสัปดาห์

ช่วง 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยมีรายงายงานฝนตกหนักบริเวณจังหวัดระยอง สุราษฏร์ธานี และนราธิวาส

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ