พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 2 – 8 มีนาคม พ.ศ. 2563

ข่าวทั่วไป Monday March 2, 2020 14:54 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 2 – 8 มีนาคม พ.ศ. 2563

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 27/63

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 3 - 5 มี.ค. 63 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะพายุฝน ฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ สำหรับภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 6 - 8 มี.ค. 63 ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน

คำเตือน ในช่วงวันที่ 3 - 5 มี.ค. 63 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยไม่ควรอยู่ในที่โล่งแจ้งขณะฟ้าคะนอง และหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆ ขณะลมแรง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 3 - 5 มี.ค. 63 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 16-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 8 มี.ค. 63 อากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 18-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

  • ระยะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตร และหลีกเลี่ยงการจุดไฟเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพราะควันไฟอาจทำให้ทัศนวิสัยลดลง โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งใกล้ถนนหนทาง อาจเป็นอุปสรรคต่อการสัญจร และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 3 - 5 มี.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่กับมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 8 มี.ค. 63 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

  • ในช่วงวันที่ 3-5 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งและปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่กลางแจ้งขณะฝนฟ้าคะนอง ระยะนี้น้ำระเหยมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดินและรักษาอุณหภูมิดิน สำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวมาแล้วหากตากไว้กลางแจ้งควรระวังความเสียหายที่จะเกิดจากฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ส่วนในช่วงวันที่ 3 - 5 มี.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 – 20 ของพื้นที่กับมีลมกระโชกแรง อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ในช่วงวันที่ 6 - 8 มี.ค. 63 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

  • ในช่วงวันที่ 3-5 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้าง ที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆขณะลมแรง สำหรับฝนที่ตกและหยุดสลับกัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรมีน้ำสำรองให้แก่พืชในระยะเจริญเติบโต เพื่อป้องกันพืชขาดแคลนน้ำ ทำให้ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 3 - 5 มี.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่กับมีลมกระโชกแรง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 8 มี.ค. 63 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ในช่วงวันที่ 3-5 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นล้มเมื่อมีลมแรง สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรเลือกพืช ที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย สำหรับฝนที่ตกและหยุดสลับกัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 3 - 6 มี.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 8 มี.ค. 63 มีฝน ฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝน ฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 3 - 6 มี.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 8 มี.ค. 63 มีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • สำหรับสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะบริเวณสวนยางพารา รวมทั้งระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไร ชนิดต่างๆในพืชสวนและพืชผัก ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชทำให้ต้นพืชทรุดโทรม ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ เนื่องจากน้ำระเหยมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อรักษาความชื้นภายในดิน รักษาอุณหภูมิดิน
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2563 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ โดยในระยะปลายสัปดาห์มีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน นอกจากนี้มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคกลางและภาคตะวันออกระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้ากับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ทางตอนบนของภาค ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนในตอนกลางวันเกือบตลอดสัปดาห์ สำหรับภาคใต้มีฝนลดลงเนื่องจากลมตะวันออก ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนตลอดสัปดาห์

ภาคเหนือ ในตอนเช้ามีอากาศเย็นทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ทางตอนบนของภาค ส่วนในตอนกลางวันมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปส่วนมากทางตอนล่างของภาค สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด โดยมีฝนร้อยละ 10 ของพื้นที่ในวันที่ 29 ก.พ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในตอนเช้ามีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ส่วนมากในระยะต้นสัปดาห์ ส่วนในตอนกลางวันมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปส่วนมากทางตอนล่างของภาค สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภู มีอากาศหนาว โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในวันที่ 1 มี.ค. ภาคกลาง มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในตอนเช้า ส่วนในตอนกลางวันมีอากาศร้อนเกือบทั่วไป ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นในตอนเช้าหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ ส่วนในตอนกลางวันมีอากาศร้อน เกือบทั่วไปทางตอนบนของภาค โดยมีฝนบางแห่งในระยะกลางสัปดาห์ ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีอากาศร้อนบางพื้นที่ โดยมีฝน ร้อยละ 10 ของพื้นที่ในวันที่ 24 และ 27 ก.พ. ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีอากาศร้อนบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 10 ของพื้นที่ในวันที่ 24 และ 27 ก.พ.

สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณกรุงเทพมหานคร โดยมีปริมาณฝนสูงสุด วัดได้ 36.9 มม. ที่ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย เมื่อวันที่ 27 ก.พ.

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ