พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 9 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2563
ออกประกาศวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 30/63
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 9 - 11 มี.ค. 63 ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดหลายพื้นที่กับมีฟ้าหลัว ในตอนกลางวัน ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 15 มี.ค. 63 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองกับ ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมทั้งอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น
คำเตือน ในช่วงวันที่ 9 - 11 มี.ค. 63 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด เกษตรกรควรดูแลสุขภาพด้วย ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 15 มี.ค. 63 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง เกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร และระวังอันตรายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใกล้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง และป้ายโฆษณาสูงๆ ขณะฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงไว้ด้วย
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 9 - 13 มี.ค. 63 อากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 18-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37-41 องศาเซลเซียส ลมอ่อน ความเร็ว 5-10 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 14 - 15 มี.ค. 63 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตก บางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- สำหรับอุณหภูมิที่แตกต่างกันมากในตอนกลางวันและกลางคืน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนในระยะนี้มีแดดจัด เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน หากมีความจำเป็นต้องทำงานในที่โล่งควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด และดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันผิวไหม้เกรียมและร่างกายขาดน้ำ สำหรับในช่วงฤดูร้อนปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด และวางแผนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง อนึ่ง ในช่วงวันที่ 14-15 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ผลผลิตทางการเกษตรที่แก่ดีแล้ว เกษตรกรควรรีบเก็บเกี่ยว ไม่ควรปล่อยไว้กลางแจ้ง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 9 - 10 มี.ค. 63 อากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 15 มี.ค. 63 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- เนื่องจากในฤดูร้อนเชื้อโรคบางชนิดจะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โดยรับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ๆ ในช่วงฤดูร้อนน้ำระเหยมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน สำหรับสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชทำให้ต้นพืชทรุดโทรม ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ ส่วนในช่วงวันที่ 12-15 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งและปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งขณะฟ้าคะนอง
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 9 - 12 มี.ค. 63 อากาศร้อนถึงร้อนจัดหลายพื้นที่กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 39-41 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 13 - 15 มี.ค. 63 อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตก บางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้น้ำระเหยได้มาก เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรจัดการสภาพน้ำให้เหมาะสมกับชนิดของสัตว์น้ำ และดูแลจำนวนสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ หากปริมาณน้ำมีน้อยจะทำให้สัตว์น้ำอยู่อย่างแออัด ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับในช่วงฤดูร้อนปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย พื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย ส่วนในช่วงวันที่ 13-15 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม่ใหญ่และป้ายโฆษณาสูงๆ ขณะลมแรง
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 9 - 10 มี.ค. 63 อากาศร้อนในตอนกลางวัน ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 15 มี.ค. 63 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่กับมีลมกระโชกแรง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไร ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชทำให้ต้นพืชทรุดโทรม สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรดูแลให้น้ำอย่างเพียงพอ เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ผลชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพได้ เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงฤดูร้อน ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง สำหรับในช่วงวันที่ 11-15 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 9 - 10 มี.ค. 63 มีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 15 มี.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %
ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 9 - 10 มี.ค. 63 มีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 15 มี.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- ระยะนี้สภาพอากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะสวนยางพาราควรหลีกเลี่ยงการจุดไฟหากมีความจำเป็นต้องจุดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน เพื่อป้องกันไฟลุกลามจนเป็นอัคคีภัย นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไร ในพืชสวนและพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชทรุดโทรม ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ นอกจากนี้ควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง
ระหว่างวันที่ 2–8 มีนาคม 2563 หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนเกือบตลอดสัปดาห์ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนเกือบทั่วไป โดยมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ในตอนกลางสัปดาห์ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนและฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนตลอดสัปดาห์ ทำให้ภาคใต้มีฝนส่วนมาก ในระยะกลางและปลายสัปดาห์
ภาคเหนือ มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 5-40 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะกลางสัปดาห์ และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองบริเวณจังหวัดพิจิตร ในวันที่ 2 มี.ค. จังหวัดพะเยาและพิษณุโลก ในวันที่ 3 มี.ค. จังหวัดเชียงราย แพร่ และกำแพงเพชร ในวันที่ 4 มี.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นมีอากาศร้อนบางพื้นที่ เว้นแต่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์ มีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 5-35 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในระยะกลางสัปดาห์มีฝนร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองบริเวณจังหวัดสกลนคร เลย หนองคาย อุดรธานี และหนองบัวลำภู ในวันที่ 2 มี.ค. บริเวณจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ดในวันที่ 4 มี.ค. ภาคกลาง มีอากาศร้อนทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์ โดยมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลางบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 5 มี.ค. มีฝนร้อยละ 33 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองบริเวณจังหวัดอุทัยธานี ภาคตะวันออก มีอากาศร้อนทั่วไปทางตอนบนของภาคเกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 5-60 ของพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศร้อนบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 5-40 ของพื้นที่ในระยะกลางและปลายสัปดาห์กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศร้อนเกือบทั่วไป โดยมีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่ในวันที่ 5, 6 และ 7 มี.ค. กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 5 มี.ค.
สัปดาห์ที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยไม่มีรายงานฝนตกหนักมาก ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา อุบลราชธานี อำนาจเจริญ นครสวรรค์ สระแก้ว จันทบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และตรัง
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา