พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 27 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ข่าวทั่วไป Monday April 27, 2020 15:32 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 27 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 51/63

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในวันที่ 27-29 เม.ย. 63 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน ยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีกระแสลมฝ่ายตะวันตกพัดเข้ามาปกคลุมภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือฝนลดลง สำหรับภาคใต้ ลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ยังคงมีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกชุก และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 30 เม.ย. - 3 พ.ค. 63 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดเข้ามาปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังอ่อนลง ส่งผลทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างจะมีกำลังอ่อนลง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 27 - 29 เม.ย. 63 บริเวณภาคเหนือ และภาคใต้จะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และลมกระโชกแรงไว้ด้วย ส่วนภาคใต้จะมีคลื่นลมแรงชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง line_tabคำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในวันที่ 27-29 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 30 เม.ย. - 3 พ.ค. 63 อากาศร้อน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-39 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65 %

  • ระยะนี้เป็นช่วงปลายฤดูร้อน สภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลง โดยจะมีฝนตกในบางวันสลับกับอากาศร้อนในบางช่วง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับเกษตรกรที่เตรียมดินสำหรับปลูกพืชในช่วงฤดูฝนนี้ควรหันหัวแปลงปลูกไปตามทิศทางลม เพื่อลดความชื้นสะสมภายในพื้นที่เพาะปลูก ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราที่มักระบาดในช่วงฤดูฝน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

อากาศร้อนในตอนกลางวัน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 20-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

  • ระยะนี้เป็นช่วงปลายฤดูร้อนอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นฤดูฝน ปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้น เกษตรกรควรซ่อมแซมโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้มีความมั่นคงแข็งแรง หลังคาอย่าให้รั่วซึม ตลอดจนจัดทำแผงกำบังฝนสาดให้กับสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันสัตว์เปียกฝน หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชควรรอให้มีฝนตกสม่ำเสมอและดินมีความชื้นเพียงพอแล้วค่อยลงมือปลูก เพื่อป้องกันพืชขาดน้ำในระยะเจริญเติบโต

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นฤดูฝน พื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก ตลอดจนขุดลอกคูคลองและทางระบายน้ำอย่าให้ตื้นเขินติดขัด น้ำระบายได้สะดวก เพื่อป้องกันน้ำขังในแปลงปลูกเมื่อมีฝนตกหนัก ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรจัดเตรียมวัสดุสำหรับกั้นขอบบ่อ และอุปกรณ์สำหรับสูบน้ำเอาไว้ให้พร้อม รวมทั้งดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ทางด้านการเกษตรอย่าให้ชำรุดเสียหายจนเป็นอันตรายแก่ผู้ใช้งาน

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ระยะต่อไปจะเป็นฤดูฝนสำหรับในบางช่วงอาจมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรขุดลอกคูคลองและทางระบายน้ำอย่าให้ติดขัด ตื้นเขิน น้ำไหลได้สะดวก ป้องกันน้ำขังในพื้นที่เพาะปลูกป้องกันโรคพืชจากเชื้อรา รวมทั้งไม่ควรกองสุมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น เปลือกผลไม้ ผลที่ร่วงหล่นเน่าเสียไว้ในบริเวณสวนเพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ที่มักระบาดในช่วงฤดูฝน

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 27 - 29 เม.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ตั้งแต่จังหวัดชุมพรขึ้นมา ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 30 เม.ย. - 3 พ.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 27 - 29 เม.ย. 63 อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1- 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % - ระยะต่อไปจะเป็นช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันออก ในบางช่วงอาจเกิดสภาวะฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวนและพืชผัก โดยดูแลแปลงปลูกให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นในแปลงปลูก ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา และควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก ป้องกันน้ำขังในแปลงปลูกเป็นเวลานานทำให้รากพืชเน่าต้นพืชตายได้ นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในไม้ผลด้วย ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้การผลิดอกออกผลลดลง อนึ่ง ในช่วงวันที่ 27 - 29 เม.ย. 63 จะมีคลื่นลมแรงชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 20 - 26 เมษายน 2563 หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน กับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ อนึ่งบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ในระยะกลางสัปดาห์ โดยในระยะปลายสัปดาห์ได้แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนอบอ้าวเกือบตลอดสัปดาห์และมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ กับมีฝนบริเวณประเทศไทยตอนบนเกือบตลอดสัปดาห์ และมีพายุฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ส่วนมากในระยะกลางสัปดาห์ สำหรับภาคใต้มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนตลอดสัปดาห์จากอิทธิพลของลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ซึ่งมีกำลังแรงในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์

ภาคเหนือ มีอากาศร้อนทั่วไปกับมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงแต่ยังคงมีอากาศร้อนในหลายพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 10-40 ของพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง จากนั้นมีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองบริเวณจังหวัดแพร่และพิจิตรในวันที่ 22 เม.ย. บริเวณจังหวัดพะเยาและลำปางในวันที่ 24 เม.ย. บริเวณจังหวัดลำพูนและตากในวันที่ 25 เม.ย. บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 26 เม.ย. และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลูกเห็บตกบริเวณจังหวัดน่าน ลำปาง และเพชรบูรณ์ในวันที่ 22 เม.ย. บริเวณจังหวัดเชียงรายในวันที่ 23 และ 24 เม.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศร้อนทั่วไปกับมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงแต่ยังคงมีอากาศร้อนในหลายพื้นที่ โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 15 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 22 และ 24 เม.ย. มีฝนร้อยละ 65 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในวันที่ 21-24 เม.ย. และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองบริเวณจังหวัดนครพนมในวันที่ 21 เม.ย. บริเวณจังหวัดบึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ นครราชสีมา ศรีสะเกษ และอุบลราชธานีในวันที่ 22 เม.ย. บริเวณจังหวัดขอนแก่นและมหาสารคามในวันที่ 24 เม.ย. และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลูกเห็บตกบริเวณจังหวัดมุกดาหาร เลย และหนองคายในวันที่ 22 เม.ย. บริเวณจังหวัดอุดรธานีในวันที่ 24 เม.ย. ภาคกลาง มีอากาศร้อนทั่วไปตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 15-50 ของพื้นที่ในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อ่างทอง และสระบุรีในวันที่ 23 เม.ย. ภาคตะวันออก มีอากาศร้อนหลายพื้นที่ส่วนมากทางตอนบนของภาคเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศร้อนจัดบริเวณจังหวัดสระแก้วในวันที่ 21 เม.ย. โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 15 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 23, 25 และ 26 เม.ย. มีฝนร้อยละ 65-85 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองบริเวณจังหวัดชลบุรีในวันที่ 22 และ 25 เม.ย. บริเวณจังหวัดนครนายก สระแก้ว จันทบุรี และตราดในวันที่ 23 เม.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 10-60 ของพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่ง จากนั้นมีฝนร้อยละ 70-90 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 10-60 ของพื้นที่ตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 22 เม.ย.

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดพิษณุโลก มุกดาหาร และราชบุรี ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี นครปฐม ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ตราด ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ