พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 29 เมษายน - 5 พฤษภาคม พ.ศ.2563
ออกประกาศวันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ.2563
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 52/63
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 29-30 เม.ย.63 ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไป โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง/ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เนื่องจากมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดเข้ามาปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก กับมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน สำหรับภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักกับลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ทั้งนี้เนื่องจากลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ส่วนในช่วงวันที่ 1-5 พ.ค.63 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนลดลง เนื่องจากลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง สำหรับภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง เนื่องจากลมตะวันออกยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ส่วนหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณหัวเกาะสุมาตราจะมีกำลังแรงขึ้น มีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเบงกอล ในช่วงวันที่ 1-5 พ.ค.63 ส่งผลทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง และคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น
คำเตือนระยะนี้บริเวณภาคใต้จะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 29 เม.ย. - 1 พ.ค.63 อากาศร้อน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 2-5 พ.ค.63 อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ทางตอนล่างของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %
- ในระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง โดยจะมีฝนตกในบางวันสลับกับอากาศร้อน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชตามฤดูกาล(ฤดูฝน) ควรเตรียมดินเอาไว้ให้พร้อม เมื่อมีฝนตกสม่ำเสมอและดินมีความชื้นเพียงพอ จึงค่อยลงมือปลูก อนึ่ง ในช่วงวันที่ 29 เม.ย.-1พ.ค. จะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันอันตรายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผลไว้ด้วย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 29-30 เม.ย.63 อากาศร้อนกับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 1-5 พ.ค.63 อากาศร้อนกับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %
- ในระยะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนฤดู ลักษณะอากาศจะแปรปรวน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชตามฤดูกาล(ฤดูฝน) ควรเตรียมดินเอาไว้ให้พร้อม เมื่อมีฝนตกสม่ำเสมอและดินมีความชื้นเพียงพอ จึงค่อยลงมือปลูก นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ไว้ด้วย สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ควรสำรวจและซ่อมแซมโรงเรือน อย่าให้มีรอยรั่วซึม เพื่อป้องกันสัตว์เปียกฝน จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 29 เม.ย. - 1 พ.ค.63 อากาศร้อนกับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 2-5 พ.ค.63 อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-40 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %
- ในระยะนี้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรควรปรับปรุงระบบระบายน้ำในพื้นที่เพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในแปลงปลูกเมื่อมีฝนตกหนัก สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ควรสำรวจและซ่อมแซมโรงเรือน อย่าให้มีรอยรั่วซึม เพื่อป้องกันสัตว์เปียกฝน จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 29-30 เม.ย.63 อากาศร้อน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 1-5 พ.ค. 63 อากาศร้อน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- อากาศร้อนและมีฝนตก เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผล เช่น โรคผลเน่าในทุเรียนและมังคุด เป็นต้น สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลจำนวนสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ อย่าให้สัตว์เลี้ยงอยู่อย่างแออัด เพราะจะทำสัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งควรเปิดเครื่องตีน้ำหลังฝนตก เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 29-30 เม.ย.63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ มีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง มากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 1-5 พ.ค.63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %ฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 29-30 เม.ย.63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 1-5 พ.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %
- มีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ เช่น โรคผลเน่าในทุเรียน เป็นต้น โดยดูแลแปลงปลูกให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นในแปลงปลูก เนื่องจากในระยะต่อไปจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรควรสำรวจและปรับปรุงระบบระบายน้ำในพื้นที่เพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในแปลงปลูก เมื่อมีฝนตกหนัก
ระหว่างวันที่ 22-28 เมษายน 2563 มีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเชียงราย พิษณุโลก มุกดาหาร และราชบุรี สำหรับบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ พะเยา แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ ชัยนาท อยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี นครปฐม ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ตรัง และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา