พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 4 - 10 พฤษภาคม พ.ศ.2563

ข่าวทั่วไป Monday May 4, 2020 13:32 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 4 - 10 พฤษภาคม พ.ศ.2563

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 54/63

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 5-10 พ.ค.63 หย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ส่งผลทำให้มีบริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น สำหรับภาคใต้ ในช่วงวันที่ 4-5 พ.ค.63 ลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ส่วนในช่วงวันที่ 6-10 พ.ค.63 ลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น

คำเตือนบริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-41 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

  • อากาศร้อนสลับกับมีฝนตกในบางวัน เกษตรการควรดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผลและพืชผักต่างๆ ไว้ด้วย สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในช่วงฤดูฝนนี้ ควรเตรียมพื้นที่เพาะปลูกเอาไว้ให้พร้อม เมื่อมีฝนตกสม่ำเสมอและดินมีความชื้นเพียงพอ จึงค่อยลงมือปลูก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 5-10 พ.ค.63 อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตะวันตกและตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

  • อากาศร้อนสลับกับมีฝนตกในบางวัน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ควรดูแลจำนวนสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ อย่าให้สัตว์น้ำอยู่อย่างแออัด เพราะจะทำให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้ควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในช่วงฤดูฝนนี้ ควรเตรียมพื้นที่เพาะปลูกเอาไว้ให้พร้อม เมื่อมีฝนตกสม่ำเสมอและดินมีความชื้นเพียงพอ จึงค่อยลงมือปลูก

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 5-10 พ.ค.63 อากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตะวันตกและตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-40 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

  • อากาศร้อนสลับกับมีฝนตกในบางวัน เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายจากฝนที่ตกได้ สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในช่วงฤดูฝนนี้ ควรเตรียมพื้นที่เพาะปลูกเอาไว้ให้พร้อม เมื่อมีฝนตกสม่ำเสมอและดินมีความชื้นเพียงพอ จึงค่อยลงมือปลูก

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 5-10 พ.ค.63 อากาศร้อน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

  • อากาศร้อนและมีฝนตกในบางวัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของสัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ เช่น หนอนเจาะผลในทุเรียน หนอนเจาะผลในมะเขือ เป็นต้น สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลจำนวนสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ อย่าให้สัตว์เลี้ยงอยู่อย่างแออัด เพราะจะทำสัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งควรเปิดเครื่องตีน้ำหลังฝนตก เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออกในช่วงวันที่ 4-5 พ.ค.63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 6-10 พ.ค.63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 4-5 พ.ค.63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 6-10 พ.ค.63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • มีฝนตกตลอดช่วง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ เช่น โรคผลเน่าในทุเรียน เป็นต้น โดยดูแลแปลงปลูกให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นในแปลงปลูก รวมทั้งควรปรับปรุงระบบระบายน้ำในพื้นที่เพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในแปลงปลูก เมื่อมีฝนตกหนัก อนึ่ง บริเวณทะเลอันดามัน จะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ลักษณะอากาศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 27 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2563 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลงตั้งแต่ระยะกลางสัปดาห์ ประกอบกับมีกระแสลมฝ่ายตะวันตกพัดเข้ามาปกคลุมภาคเหนือในระยะต้นสัปดาห์ ต่อจากนั้นมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน โดยมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณดังกล่าวในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์นอกจากนี้มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณเกาะสุมาตราในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ ส่งผลให้ลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนอบอ้าวเกือบตลอดสัปดาห์และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ กับมีฝนตลอดสัปดาห์ และมีพายุฝนฟ้าคะนองบางที่ส่วนมากในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ สำหรับภาคใต้มีอากาศร้อนหลายพื้นที่ส่วนมากในระยะกลางและปลายสัปดาห์ กับมีฝนตลอดสัปดาห์

ภาคเหนือ มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศร้อนจัดบริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ในวันสุดท้ายของสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 35-80 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางแห่งบริเวณจังหวัดเชียงรายในวันที่ 28 เม.ย. เว้นแต่ในวันวันที่ 1 พ.ค. มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่ง และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 1-2 พ.ค. และบริเวณจังหวัดแพร่ในวันที่ 2 พ.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศร้อนทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในระยะปลายสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 5-25 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 1 พ.ค. และมีฝนร้อยละ 65 ในวันสุดท้ายของสัปดาห์กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคกลาง มีอากาศร้อนทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ส่วนมากในวันสุดท้ายของสัปดาห์ โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 35 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองบริเวณจังหวัดลพบุรีในวันที่ 3 พ.ค. ภาคตะวันออก มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปทางตอนบนของภาคตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศร้อนจัดบริเวณจังหวัดปราจีนบุรีในวันที่ 30 เม.ย. โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 45 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 29 เม.ย. กับ 1 พ.ค. กับมีฝนหนักมากบางแห่งบริเวณจังหวัดฉะเชิงเทราในวันที่ 29 เม.ย. และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองในวันที่ 27 และ 29 เม.ย. เว้นแต่ในวันแรกและวันสุดท้ายของสัปดาห์มีฝนร้อยละ 75 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักมากบางแห่งในวันแรกของสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศร้อนบางพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิเพิ่มขึ้นจนมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศร้อนหลายพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 25 ของพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นมีฝนร้อยละ 35-75 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดตรังในวันที่ 27 เม.ย.

สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเชียงราย ฉะเชิงเทราและจันทบุรี ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา อุบลราชธานี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี นครนายก ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา นราธิวาส พังงา ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ