พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 25 - 31 พฤษภาคม พ.ศ.2563

ข่าวทั่วไป Monday May 25, 2020 14:44 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 25 - 31 พฤษภาคม พ.ศ.2563

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 63/63

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 25 - 27 พ.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวตอนบน ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 28 - 31 พ.ค. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง

คำเตือน สัปดาห์นี้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย โดยเฉพาะในช่วง 28 - 31 พ.ค.

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 25 - 27 พ.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37- 40 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 28 - 31 พ.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

  • เนื่องจากฝนที่ตกยังไม่สม่ำเสมอในบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผลและผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยว เกษตรกรควรระวังและป้องกันแมลงวันผลไม้และผีเสื้อมวนหวานซึ่งจะดูดกินน้ำหวานจากผลทำให้ผลเน่าเสีย ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 25 - 27 พ.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 28 - 31 พ.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ในช่วงฤดูฝนแมลงศัตรูสัตว์ต่างๆ เช่น ยุง เหลือบ ริ้น และไร เป็นต้น เจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้ศัตรูสัตว์ดังกล่าวมารบกวนสัตว์เลี้ยง เพราะจะทำให้สัตว์ชะงักการเจริญเติบโต และศัตรูสัตว์บางชนิดยังเป็นพาหะนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงได้ สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชในระยะนี้ไม่ควรปลูกชิดจนเกินไป และควรหันหัวแปลงปลูกไปตามทิศทางลมเพื่อลดความชื้นสะสมในแปลงปลูก ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 25 - 27 พ.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตะวันตกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 28 - 31 พ.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ในช่วงฤดูฝนความชื้นในดินและในอากาศจะสูง เกษตรกรควรดูแลพื้นที่เพาะปลูกให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวกเพื่อลดความชื้นสะสมในแปลงปลูกป้องกันและลดความรุนแรงของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงฤดูฝน ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อให้น้ำรวมเป็นเนื้อเดียวกันป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 25 - 27 พ.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 28 - 31 พ.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ในช่วงฤดูฝนปริมาณและการกระจายของฝนจะเพิ่มขึ้นกับจะมีฝนตกหนักบางแห่ง พื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมในแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชเป็นเวลานานทำให้รากพืชขาดอากาศต้นพืชตายได้ สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วเกษตรกรควรรีบตัดแต่งกิ่งแล้วทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา และใส่ปุ๋ยบำรุงต้น เพื่อให้ต้นฟื้นตัวได้เร็วมีเวลาพักตัวได้นานขึ้นส่งผลต่อการออกดอกของพืชในฤดูต่อไป

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • ระยะนี้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันออก กับจะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวนและพืชผัก ส่วนทางฝั่งตะวันออกระยะนี้จะมีฝนที่ตกและหยุดตกสลับกัน เกษตรกร ควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 18 - 24 พฤษภาคม 2563 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยตลอดสัปดาห์ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมอ่าวตังเกี๋ยและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในระยะปลายสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยตอนบนมีปริมาณและการกระจายของฝนเพิ่มขึ้นส่วนมากในระยะต้นและปลายสัปดาห์ กับมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในหลายพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์

ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 55-65 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่ง จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์ ร้อยละ 5-20 ของพื้นที่ และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดพิจิตรวันที่ 23 พ.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 60-85 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง เว้นแต่ในระยะกลางสัปดาห์มีฝนร้อยละ 5-10 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสุรินทร์ในวันที่ 19 พ.ค. บริเวณจังหวัดอุดรธานี สกลนคร นครพนม และขอนแก่นในวันที่ 23 พ.ค. ภาคกลาง มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนร้อยละ 15-60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 18 และ 23 พ.ค. และมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดราชบุรีวันที่ 18 พ.ค. บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาทและสระบุรีวันที่ 23 พ.ค. ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 80 ของพื้นที่ในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 15-60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 25-60 ของพื้นที่ตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 18, 19 และ 23 พ.ค. มีฝนร้อยละ 10-40 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง

สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดสกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ และนครราชสีมา ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ พิษณุโลก เลย หนองคาย อุดรธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ราชบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา นราธิวาส กระบี่ และตรัง

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ