พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 15 - 21 มิถุนายน พ.ศ. 2563
ออกประกาศวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2563
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 72/63
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 15 - 17 มิ.ย. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวตอนบนลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกชุก และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 21 มิ.ย. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังอ่อนลงเป็นกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังปานกลางตลอดช่วง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
คำเตือน ในช่วงวันที่ 15 - 17 มิ.ย. บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนตกหนักและฝนตกสะสม ซึ่งอาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 21 มิ.ย. ประชาชนบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ยังคงเฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมต่อไปอีก สำหรับในช่วงวันที่ 15 - 17 มิ.ย. บริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 15 - 18 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 19 - 21 มิ.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต และเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้ผลที่ร่วงหล่นเน่าเสียกองอยู่ภายในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 15 - 17 มิ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 21 มิ.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- ในช่วงฤดูฝนแมลงต่างๆ เช่น ยุง เหลือบ ริ้น และไร เป็นต้น จะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรระวังและป้องกันแมลงดังกล่าว และไม่ควรปล่อยให้แมลงศัตรูสัตว์ดังกล่าวมารบกวนสัตว์เลี้ยง เพราะจะทำให้สัตว์ชะงักการเจริญเติบโต และศัตรูสัตว์บางชนิดยังเป็นพาหะนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยง เนื่องจากฝนที่ตกในระยะนี้จะทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น สำหรับในช่วงที่มีฝนตก เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู โดยหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่สกปรกหากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูททุกครั้งเพื่อป้องกันโรคดังกล่าว
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 15 - 17 มิ.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.
ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 21 มิ.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %
- สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูก เพื่อป้องกันน้ำขังในพื้นที่การเกษตรและโคนต้นพืช เมื่อมีฝนตกหนัก ทำให้พืชเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราได้ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้มีความมั่นคงแข็งแรง หลังคาไม่รั่วซึม พื้นคอกไม่ชื้นแฉะ แผงกำบังฝนอยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงเปียกฝน หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 15 - 17 มิ.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 21 มิ.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- พื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูก เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในแปลงปลูกและโคนต้นพืช ซึ่งจะเป็นสาเหตุของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ส่วนไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรไม่ควรกองสุมเปลือกผลไม้ และผลไม้ที่เน่าเสียร่วงหล่น อยู่ในบริเวณสวน แต่ควรนำไปกำจัดโดยเผาหรือฝังให้ลึกเพื่อตัดวงจรชีวิตของโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงฤดูฝน
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 15 - 16 มิ.ย. 63 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %
ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 15 - 16 มิ.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 17 - 21 มิ.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และฝนตกหนักบางแห่งตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- ระยะนี้ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันออก กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ อนึ่ง ในช่วงวันที่ 15-17 มิ.ย. บริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง1 - 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรระมัดระวังในการเดินเรือ
ระหว่างวันที่ 8 - 14 มิถุนายน 2563 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยตลอดสัปดาห์ โดยมีกำลังแรงในระยะต้นและปลายสัปดาห์ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบนในระยะต้นสัปดาห์ และมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศลาวตอนบนในวันสุดท้ายของสัปดาห์ อนึ่ง พายุโซนร้อน "นูรี" (NURI (2002))" ที่เคลื่อนตัวบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนในระยะปลายสัปดาห์ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ในช่วงเช้าวันสุดท้ายของสัปดาห์ แล้วอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันในเวลาต่อมา และสลายตัวไปในช่วงค่ำของวันเดียวกัน ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนาแน่นในระยะต้นและปลายสัปดาห์ ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์
ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 5-40 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันแรกของสัปดาห์และในระยะปลายสัปดาห์มีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดอุตรดิตถ์และพะเยาในวันที่ 13 มิ.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 5-20 ของพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่ง จากนั้นมีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดเลย อุดรธานี และกาฬสินธุ์ในวันที่ 13 มิ.ย. ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 5-40 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันแรกและวันสุดท้ายของสัปดาห์มีฝนมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดชัยนาทในวันที่ 11 มิ.ย. ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 5-45 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในระยะต้นสัปดาห์และในวันสุดท้ายของสัปดาห์มีฝนมากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเว้นแต่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์มีฝนร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง โดยมีรายงานพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 14 มิ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 9 และ 10 มิ.ย. มีฝนร้อยละ 50-60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง
สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ นครราชสีมา สิงห์บุรี ลพบุรี กรุงเทพมหานคร ปราจีนบุรี ชลบุรี จันทบุรี และพังงา ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง น่าน สุโขทัย กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรปราการ นครนายก สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ระยอง ตราด ประจวบคีรีขันธ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง ภูเก็ต และตรัง
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา