พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 24 - 30 มิถุนายน พ.ศ.2563
ออกประกาศวันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2563
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 76/63
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในวันที่ 24-26 มิ.ย.63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังอ่อน ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง ในขณะที่ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 27-30 มิ.ย.63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้
คำเตือน ในช่วงวันที่ 28-30 มิ.ย. เกษตรกรที่อยู่บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ระวังอันตรายจากสภาวะฝนที่ตกหนักไว้ด้วย
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 25-27 มิ.ย.63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 28-30 มิ.ย.63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %
- มีฝนต่อเนื่อง ทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง ซึ่งเหมาะแก่การระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ เช่น โรคใบจุดสีดำ โรคใบจุดสีน้ำตาล และโรคราสนิม เป็นต้น ส่วนเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน ควรกักเก็บน้ำฝนเอาไว้ เนื่องจากในช่วงต้นเดือนหนา จะมีฝนน้อย หรืออาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงได้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 24-28 มิ.ย.63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 29-30 มิ.ย.63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %
- ในช่วงวันที่ 24-28 มิ.ย. มีฝนน้อย เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ จากนั้นมีฝนเพิ่มขึ้น เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน ควรกักเก็บน้ำฝนเอาไว้ เนื่องจากในช่วงต้นเดือนหนาปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง หรืออาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงได้
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 24-27 มิ.ย.63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 28-30 มิ.ย.63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %
- ระยะนี้อุณหภูมิจะสูงในตอนกลางวัน และอุณหภูมิจะต่ำในตอนกลางคืน ซึ่งเป็นปัจจัยที่เหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชจำพวกแมลงหวี่ขาว ในพืชผัก เช่น พืชตระกูลแตง โหระพา แมงลัก และกะเพรา เป็นต้น ซึ่งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ แล้วยังเป็นพาหะของเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคด่างเหลือง เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบควรรีบกำจัด สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรเสริมขอบบ่อให้สูงขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนที่ตกบริเวณใกล้เคียงไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำและสัตว์น้ำ
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 24-27 มิ.ย.63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 28-30 มิ.ย.63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ไมผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแลว เช่น เงาะ ทุเรียน และลองกอง เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งและขั้วผล เพื่อให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และควรทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1- 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- ฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ส่วนมากทางฝั่งตะวันตกของภาค เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนที่ตกหนักไว้ด้วย โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังแปลงปลูก เมื่อมีฝนตกหนัก รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง โรคราสีชมพูในยางพารา เป็นต้น
ระหว่างวันที่ 17-23 มิถุนายน 2563 มีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดหนองคาย ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี นราธิวาส ระนอง และภูเก็ต สำหรับบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี นครสวรรค์ ลพบุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี สมุทรปราการ นครนายก สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี พังงา ตรัง และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา