พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 6 - 12 กรกฎาคม พ.ศ.2563

ข่าวทั่วไป Monday July 6, 2020 13:55 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 6 - 12 กรกฎาคม พ.ศ.2563

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 81/63

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 6-7 ก.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ประกอบกับในช่วงวันที่ 6-7 ก.ค. 63 จะมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งบบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนในช่วงวันที่ 8 - 12 ก.ค. 63 บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย

คำเตือน ระยะนี้บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้จะมีฝนตกหนัก เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนตกหนักและฝนที่สะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 6-8 ก.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 9-12 ก.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • สำหรับฝนที่ตกและหยุดตกสลับกัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันผีเสื้อมวนหวานและแมลงวันผลไม้ ซึ่งจะดูดกินน้ำหวานจากผลทำให้ผลเน่าเสีย ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ รวมทั้งควรเก็บกวาดผลที่ร่วงหล่นเน่าเสีย ไม่ควรให้กองอยู่ในบริเวณสวน แต่ควรนำไปกำจัดโดยเผาหรือฝังให้ลึก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 6-7 ก.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 8-12 ก.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรซ่อมแซมโรงเรือนให้แข็งแรง หลังคาไม่รั่วซึม แผงกำบังฝนสาดอยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติเพื่อป้องกันสัตว์เปียกฝน หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรเสริมขอบบ่อให้สูงขึ้น เพื่อป้องกันน้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเมื่อมีฝนตก และจัดเตรียมวัสดุสำหรับกั้นขอบบ่อและอุปกรณ์สำหรับสูบน้ำเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 6-8 ก.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 9-12 ก.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ระยะนี้มีฝนตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ สำหรับพื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรขุดลอกคูคลองและทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อป้องกันน้ำขังในแปลงปลูก ป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรยกพื้นคอกสัตว์ให้สูง เพื่อไม่ให้น้ำท่วมพื้นคอก ป้องกันสัตว์อยู่ในที่ชื้นแฉะซึ่งทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • สำหรับในช่วงฤดูฝนความชื้นในดินจะมีสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชพืชไร่ ไม้ผลและพืชผัก เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล และโรครากเน่าในพริกไทย เป็นต้น โดยดูแลพื้นที่ให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องได้ทั่วถึง ส่วนไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งและทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา และใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นพื้นตัวได้เร็วมีเวลาพักตัวได้นาน

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 6-8 ก.ค. 63 อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 6-8 ก.ค. 63 อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ระยะนี้ทางฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าฝั่งตะวันออก กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยขุดลอกคูคลองทางระบายน้ำอย่าให้ตื้นเขิน น้ำระบายได้สะดวก ในช่วงที่มีฝนตก ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสีชมพูและโรคหน้ากรีดยาง ในยางพารา รวมทั้งโรคราสนิมในกาแฟ เป็นต้น ส่วนทางฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกและหยุดตกสลับกัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ พืชสวน และพืชผัก เป็นต้น
ลักษณะอากาศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน - 5 กรกฎาคม 2563 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงเกือบตลอดสัปดาห์ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศลาวและเวียดนามตอนบนในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ นอกจากนี้ร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศเมียนมาเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบน

ในช่วงวันที่ 2-4 ก.ค. ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีฝนหนาแน่นตลอดสัปดาห์ โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้

ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 25-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง โดยเฉพาะในวันที่ 4 ก.ค. มีฝนร้อยละ 75 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 29 มิ.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 65-90 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 29 มิ.ย.,4 และ 5 ก.ค. มีฝนร้อยละ 25-45 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดขอนแก่นในวันที่ 29 มิ.ย. ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 15-40 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 3 ก.ค. มีฝนร้อยละ 75 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ ภาคตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 30 มิ.ย.,2 และ 5 ก.ค. มีฝนร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งบริเวณชายฝั่งตอนล่างของภาคโดยเฉพาะในวันแรกของสัปดาห์มีฝนหนักหลายพื้นที่กับหนักมากบางแห่ง และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดระยองในวันที่ 29 และ 30 มิ.ย. และบริเวณจังหวัดชลบุรีในวันที่ 30 มิ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 30-80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสงขลาในวันที่ 29 มิ.ย. และบริเวณจังหวัดพัทลุงในวันที่ 1 ก.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 29 มิ.ย., 1 และ 5 ก.ค. มีฝนร้อยละ 60-90 ของพื้นที่ กับมีฝนหนัก บางแห่ง

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดน่าน หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย แพร่ พิจิตร เลย หนองบัวลำภู มุกดาหาร ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ ลพบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม ราชบุรี สมุทรปราการ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ