พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 8 - 14 กรกฎาคม พ.ศ.2563
ออกประกาศวันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2563
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 82/63
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 8-9 ก.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ ส่วนในช่วงวันที่ 10-14 ก.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้
คำเตือน ในวันที่ 12-14 ก.ค. เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 9-11 ก.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.ส่วนในช่วงวันที่ 12-14 ก.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %
- ระยะนี้มีฝนตกและหยุดสลับกัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ สำหรับชาวสวนผลไม้ที่ไม้ผลอยู่ในระยะผลแก่ ควรระวังและป้องกันแมลงวันผลไม้ ซึ่งจะดูดกินน้ำหวานจากผล ทำให้ผลเน่าเสีย ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ นอกจากนี้ควรกำจัดผลที่ร่วงหล่นเน่าเสียภายในบริเวณสวน โดยเผาหรือฝังให้ลึก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 8-11 ก.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 12-14 ก.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %
- ระยะนี้มีฝนน้อย เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผลและพืชผักต่างๆ โดยเฉพาะหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ในข้าวโพด สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพริก ควรระวังและป้องกันโรครากเน่าไว้ด้วย
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 9-11 ก.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 12-14 ก.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %
- ระยะนี้ฝนตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ โดยเฉพาะหนอนกออ้อยในอ้อย ศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อน ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ควรดูแลซ่อมแช่มโรงเรือนหรือคอกสัตว์ ให้หลังคาสามารถป้องกันฝน ลม ละอ่องฝนได้เป็นอย่างดี เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงไม่เจ็บป่วยได้ง่าย
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 9-11 ก.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 12-14 ก.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- ในช่วงวันที่ 12-14 ก.ค. จะมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยได้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียจากสภาวะดังกล่าว โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังพื้นที่เพาะปลูก เมื่อมีฝนตกหนัก และจากสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่เหมาะต่อการแพร่ระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล เกษตรกรควรดูแลพื้นที่เพาะปลูกให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดส่องได้ทั่วถึง
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %
ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 8 และ 11-12 ก.ค. 63 อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 8-9 ก.ค. 63 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 10-14 ก.ค. 63 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- มีฝนตกหนักบางพื้นที่ส่วนมากทางฝั่งตะวันตกของภาค เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังแปลงปลูก เมื่อมีฝนตกหนัก นอกจากนี้ควรระวังและป้องกัน โรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากขาว โรคราสีชมพูในยางพารา โรคราสนิมในกาแฟ เป็นต้น ส่วนทางฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกและหยุดตกสลับกัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ พืชสวน และพืชผักไว้ด้วย
ระหว่างวันที่ 1-7 กรกฎาคม 2563 มีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดน่าน หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี สำหรับบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ พิจิตร เลย หนองบัวลำภู มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรปราการ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง ภูเก็ต ตรัง และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา