พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 3 - 9 สิงหาคม พ.ศ. 2563
ออกประกาศวันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2563
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 93/63
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 3 - 5 ส.ค. 63 หย่อมความกดอากาศต่ำที่อ่อนกำลังลงจากพายุซินลากูบริเวณประเทศเมียนมา พาดเข้าสู่ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยยังคงมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยคลื่นสูง 2-3 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 9 ส.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะเริ่มมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
คำเตือน ในช่วงวันที่ 3 - 5 ส.ค. 63 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ส่วนบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 3 - 5 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 9 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- พื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมหากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูก เพื่อป้องกันน้ำขังในแปลงพืช เป็นสาเหตุของโรคที่เกิดจากเชื้อรา นอกจากนี้เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่สกปรก หากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูททุกครั้งเพื่อป้องกันโรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคฉี่หนู ส่วนไม้ผลที่อยู่ในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรไม่ควรกองสุมเปลือกและผลที่เน่าเสียไว้ในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืชซึ่งอาจระบาดมาสู่ต้นพืชได้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 3 - 4 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 9 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- ในช่วงที่มีฝนตกทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ โดยดูแลพื้นที่การเกษตรให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในแปลงปลูก ป้องกันและลดความรุนแรงของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับในช่วงที่มีน้ำท่วม ชาวนาควรระวังและป้องกันหอยเชอรี่ที่ลอยมากับน้ำ โดยใช้ตาข่ายดักบริเวณทางน้ำไหลเข้านาแล้วจับหอยไปทำลาย
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 3 - 5 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 6 - 9 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- สำหรับพื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรขุดลอกคูคลองและทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมขังพื้นที่ปลูกเมื่อมีฝนตกหนัก ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรเสริมขอบบ่อให้สูงขึ้น รวมทั้งจัดเตรียมวัสดุสำหรับกั้นขอบบ่อ และอุปกรณ์สำหรับสูบน้ำเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน นอกจากนี้ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลหลังคาโรงเรือนอย่าให้รั่วซึม แผงกำบังฝนสาดอยู่ในสภาพให้ใช้งานได้ตามปกติ เพื่อป้องกันสัตว์เปียกฝน หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 3 - 6 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 9 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องได้ทั่วถึง เพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันและลดความรุนแรงของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ส่วนพื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้น้ำขังในแปลงปลูกพืช เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตก เกษตรกรควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อให้น้ำรวมเป็นเนื้อเดียวกันป้องกันน้ำแยกชั้นและเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 3 - 6 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7- 9 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 3 - 6 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-45 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 9 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- ระยะนี้ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันออกกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวนและพืชผัก ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย ส่วนทางฝั่งตะวันออกฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังป้องกันศัตรูพืชพวกหนอนในพืชไร่ พืชสวน และพืชผัก อนึ่ง ในช่วงวันที่ 3-4 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2563 หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบนในวันที่ 28-29 ก.ค.ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้นในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ นอกจากนี้มีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าสู่พายุโซนร้อน "ซินลากู
(SINLAKU,2003)" บริเวณอ่าวตังเกี๋ยในระยะปลายสัปดาห์ โดยพายุโซนร้อนดังกล่าวได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามในช่วงเช้าของวันที่ 2 ส.ค. จากนั้นเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยก่อนจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศลาวและอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันในช่วงค่ำของวันเดียวกัน ก่อนจะเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณประเทศไทย โดยเมื่อเวลา 04.00 น. ของวันที่ 3 ส.ค.พายุนี้มีศูนย์กลางบริเวณอำเภอปัว จังหวัดน่าน ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยมีปริมาณและการกระจายของฝนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในวันสุดท้ายของสัปดาห์มีฝนตกเป็นบริเวณกว้างในทุกภาคของประเทศ
ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 20-50 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 28 ก.ค.,1 และ 2 ส.ค. มีฝนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดสัปดาห์กับมีฝนหนักมากบางแห่งในระยะปลายสัปดาห์ และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดพะเยาในวันที่ 27 ก.ค. กับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 27 ก.ค. บริเวณจังหวัดลำพูนในวันที่ 28 ก.ค. บริเวณจังหวัดลำปางในวันที่ 28 ก.ค. และ 2 ส.ค. บริเวณจังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ในวันที่ 2 ส.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 27, 29 และ 30 ก.ค. มีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมาก บางแห่งตลอดสัปดาห์ และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสุรินทร์ในวันที่ 1 ส.ค. บริเวณจังหวัดอำนาจเจริญในวันที่ 2 ส.ค. กับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 28 ก.ค. บริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนมในวันที่ 2 ส.ค. ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 29 ก.ค. และ 2 ส.ค. มีฝนร้อยละ 75-80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสระบุรีในวันที่ 24 ก.ค. บริเวณจังหวัดราชบุรีและสมุทรสงคราม ในวันที่ 28 ก.ค. ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 28, 29 ก.ค. และ 2 ส.ค. มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักหลายพื้นที่ และหนักมากบางแห่ง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 1 ส.ค. บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชและชุมพรในวันที่ 2 ส.ค. และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 29 ก.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดกระบี่ในวันที่ 28 ก.ค. กับมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดพังงา ระนอง และภูเก็ตในวันที่ 2 ส.ค.
ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา เชียงใหม่ น่าน อุตรดิตถ์ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ชุมพร นราธิวาส ระนอง และตรัง ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ อุดรธานี มุกดาหาร ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา