พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 7 – 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563
ออกประกาศวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2563
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 95/63
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 8-11 ส.ค. ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณอ่าวไทยคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 12-13 ส.ค. ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมา ลาว และเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย จะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางด้านรับลมของบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร
คำเตือน ในช่วงวันที่ 7-11 ส.ค. บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและ อ่าวไทย ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ โดยในช่วงวันที่ 8-11 ส.ค.บริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจาก เชื้อราในพืชสวนและพืชผัก เช่น โรคแอนแทรคโนสและโรคเหี่ยวในพริก เป็นต้น รวมทั้งควรระวังศัตรูพืชจำพวกหนอนในช่วงที่มีฝนตกไม่สม่ำเสมอ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 7-11 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 12-13 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ เช่น โค กระบือ และสุกร เป็นต้น นอกจากนี้ควรซ่อมแซมหลังคาโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้มีรอยรั่วซึมเพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงเปียกฝน
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 7-11 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 12-13 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจาก เชื้อราในพืชสวนและพืชผัก เช่น โรคลำต้นจุดสีน้ำตาลและโรคผลเน่าในแก้วมังกร เป็นต้น นอกจากนี้ควรกำจัดวัชพืชและดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 7-11 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 12-13 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่งทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวนและพืชผัก เช่น โรครากเน่า-โคนเน่าและโรคใบติดในทุเรียน เป็นต้น นอกจากนี้ควรเก็บกวาดเศษซากพืชที่ร่วงหล่นเน่าเสีย ไม่ให้กองสุมอยู่ภายในสวนและนำไปกำจัด เพื่อป้องกันโรคพืช ที่เกิดจากเชื้อรา
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 8-11 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 12-13 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 8-11 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 12-13 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืช เช่น ด้วงแรดและด้วงงวงในมะพร้าว เป็นต้น นอกจากนี้เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย
ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 6 สิงหาคม 2563 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าสู่พายุดีเปรสชันบริเวณชายฝั่งเกาะไหหลำในวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งต่อมาพายุลูกนี้ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ซินลากู (SINLAKU,2003)” บริเวณอ่าวตังเกี๋ยแล้วเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงเช้าของวันที่ 2 ส.ค. จากนั้นเคลื่อนเข้าสู่ประเทศลาวและอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันในช่วงค่ำของวันเดียวกัน ก่อนจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณจังหวัดน่าน เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันที่ 3 ส.ค. แล้วอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนบนและประเทศเมียนมาในเวลาต่อมา ส่วนในระยะครึ่งหลังของช่วงร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยเกือบตลอดช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนาแน่น โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่และมีรายงานน้ำท่วมในบางพื้นที่
ภาคเหนือมีฝนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง โดยเฉพาะในระยะกลางช่วงมีฝนมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ และ พิษณุโลกในวันที่ 2 ส.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นมีฝนร้อยละ 60-80 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสุรินทร์ในวันที่ 1 ส.ค. บริเวณจังหวัดอำนาจเจริญในวันที่ 2 ส.ค. กับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนม และ กาฬสินธุ์ในวันที่ 2 ส.ค. ภาคกลางมีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 2 และ 4 ส.ค. มีฝนมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ภาคตะวันออกมีฝนร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ในระยะต้นช่วง กับมีฝนหนักบางแห่ง จากนั้นมีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ในระยะต้นและกลางช่วง กับมีฝนหนักหลายพื้นที่และหนักมากบางแห่ง จากนั้นมีฝนร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 1 ส.ค. บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชและชุมพรในวันที่ 2 ส.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 25-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดพังงา ระนอง และภูเก็ตในวันที่ 2 ส.ค.
ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากที่จังหวัดเชียงราย พะเยา เชียงใหม่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น นครราชสีมา ศรีสะเกษ ยโสธร กาญจนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง และภูเก็ต ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนักได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ มุกดาหาร ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร นครปฐม ราชบุรี สมุทรปราการ นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี พังงา ตรัง และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา