พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 17 - 23 สิงหาคม พ.ศ.2563
ออกประกาศวันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2563
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 99/63
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 17-19 ส.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีการกระจายของฝนมากกว่าภาคอื่นๆ ส่วนในช่วงวันที่ 20-23 ส.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย ประกอบกับมีร่องมรสุมยังคงพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำมีกำลังแรงในทะเลจีนใต้ตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก มีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อน
คำเตือนในช่วงวันที่ 20-23 ส.ค. เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 17-20 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งทางตะวันออกของภาค ในช่วงวันที่ 21-23 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- ในช่วงวันที่ 21-23 ส.ค. จะมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 17-19 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 20-23 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %
- ในช่วงวันที่ 20-23 ส.ค. มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ เช่น โค กระบือ และสุกร เป็นต้น
ภาคกลาง
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 21-23 ส.ค.63 อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 21-23 ส.ค. ทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ สำหรับเกษตรที่เลี้ยงน้ำในกระชัง ควรระวังและป้องกันความเสียหาย เนื่องจากระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลง
ภาคตะวันออก
ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- มีฝนตกต่อเนื่องและฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าวไว้ด้วย จากฝนที่ตกต่อเนื่องทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่เหมาะต่อการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ โดยเฉพาะโรคยอดเน่าในสับปะรด โรคหน้ากรีดยางในยางพารา เป็นต้น
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %
ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %
- ในระยะนี้มีฝนน้อย เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ เช่น หนอนเจาะฝักและลำต้นในข้าวโพด หนอนกอข้าว และหนอนเจาะผลทุเรียน เป็นต้น
ระหว่างวันที่ 10-16 สิงหาคม 2563 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยเกือบตลอดสัปดาห์ ประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกและอ่าวไทยในวันที่ 11-14 ส.ค. นอกจากนี้มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบนในวันแรกของสัปดาห์และในระยะปลายสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีรายงานฝนหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนหนาแน่นในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์
ภาคเหนือ มีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดน่านในวันที่ 13 ส.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 50-55 ของพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นมีฝนมากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งตลอดสัปดาห์ และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดอุดรธานีในวันที่ 14 ส.ค. ภาคกลาง มีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่ง จากนั้นมีฝนร้อยละ 35-45 ของพื้นที่ ภาคตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 12 และ 16 ส.ค. มีฝนร้อยละ 40 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักมากบางแห่งในระยะกลางสัปดาห์ และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดปราจีนบุรีในวันที่ 10 ส.ค. บริเวณจังหวัดจันทบุรีในวันที่ 10 และ 13 ส.ค. บริเวณจังหวัดตราดในวันที่ 13 ส.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนมากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนร้อยละ 25-30 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชในวันที่ 10 ส.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่ง และมีฝนร้อยละ 10 ของพื้นที่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์
สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เพชรบูรณ์ หนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา อำนาจเจริญ กรุงเทพมหานคร จันทบุรี และตราด ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย ลำพูน แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เลย หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ อุบลราชธานี ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรปราการ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา