พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 19 - 25 สิงหาคม พ.ศ. 2563
ออกประกาศวันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 100/63
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 19 - 23 ส.ค. 63 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 24 - 25 ส.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ประกอบกับร่องมรสุมที่พาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อ่อนกำลังลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยฝนลดลง
คำเตือน ในช่วงวันที่ 20 - 23 ส.ค. บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 19 - 23 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-33 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 24 - 25 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- ฝนที่ตกในระยะนี้จะเป็นผลดีกับพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต สำหรับในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ โดยดูแลแปลงปลูกพืชให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องได้ทั่วถึง เพื่อลดความชื้นสะสมในพื้นที่การเกษตร ป้องกันและลดความรุนแรงของโรคดังกล่าว ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหล ลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อให้น้ำรวมเป็นเนื้อเดียวกันและเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 19 - 23 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-33 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 24 - 25 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- ในช่วงที่มีฝนตกอาจมีน้ำขัง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำที่สกปรก หากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูททุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคเลปโตสไปโรซีส หรือโรคฉี่หนู ในช่วงที่มีฝนตกอาจมีน้ำท่วมแปลงนา ชาวนาควรระวังและป้องกันหอยเชอรี่ที่ลอยมากับน้ำ โดยใช้ตาข่ายดักบริเวณทางน้ำไหลเข้านา แล้วจับหอยไปทำลาย เพื่อป้องกันหอยเข้ามาในแปลงนาและขยายพันธุ์ กัดกินต้นข้าวในระยะต่อไป นอกจากนี้ควรดูแลโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้หลังคารั่วซึมแผงกำบังฝนสาดอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติ เพื่อป้องกันสัตว์เปียกฝน หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 19 - 23 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 21-23 ส.ค.อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 24 - 25 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- พื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูกพืช และขุดลอกคูคลอง รวมทั้งทางระบายน้ำอย่าให้ตื้นเขินน้ำไหลได้สะดวก เพื่อไม่ให้น้ำขังในแปลงปลูก ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรยกพื้นคอกให้สูงขึ้น และจัดเตรียมพื้นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึงเอาไว้สำหรับอพยพสัตว์เลี้ยงหากเกิดสภาวะน้ำท่วมพื้นที่เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งจัดเตรียมอาหารสัตว์และระบบส่องสว่างยามค่ำคืนเอาไว้ให้พร้อมใช้งานหากทำได้ควรใช้พลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นการประหยัดค่าไฟฟ้าลงไปได้
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 19 - 23 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 21-23 ส.ค. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 24 - 25 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียสลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- ในช่วงที่มีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายที่เกิดจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ส่วนพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูก ป้องกันน้ำขังบริเวณโคนต้นพืชนานทำให้รากพืชขาดอากาศ ต้นพืชตายได้ นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจาก เชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า และโรคหน้ากรีดยางในยางพารา เป็นต้น
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 19 - 20 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ในช่วงวันที่ 21 - 25 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 20 - 25 ส.ค. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันโดยเฉพาะทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก ฝนที่ตกในระยะนี้จะเป็นผลดีกับพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต แต่เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวน เช่น โรคราสนิมในกาแฟ โรครา สีชมพูในยางพารา เป็นต้น ส่วนทางฝั่งตะวันออกฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชสวนและพืชผัก
ระหว่างวันที่ 12-18 สิงหาคม 2563 มีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เพชรบูรณ์ หนองคาย สกลนคร ขอนแก่น นครราชสีมา อำนาจเจริญ กรุงเทพมหานคร จันทบุรี และตราด ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย ลำพูน แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรปราการ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา