พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม - 6 กันยายน พ.ศ. 2563
ออกประกาศวันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 105/63
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 31 ส.ค. - 4 ก.ย. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 5 - 6 ก.ย. 63 ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันออกพัดเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
คำเตือน ในช่วงวันที่ 31 ส.ค. - 4 ก.ย. บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหาย จากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ส่วนในช่วงวันที่ 5-6 ก.ย. บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก จะมีฝนตกหนัก เกษตรกรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 31 ส.ค. - 4 ก.ย. 63 อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนพื้นที่การเกษตร ที่ถูกน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมา หากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกและพื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ใช้ได้ดีดังเดิม ถ้าพบไม้ยืนต้นที่ล้มเอนควรผูกยึดให้ตั้งตรง หากมีบาดแผลควรทำความสะอาดแล้วตัดแต่งแผลและทาด้วยสารป้องกันเชื้อรา สำหรับทางตอนบนของภาค เกษตรกรควรเริ่มกักเก็บน้ำเอาไว้ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % - ฝนที่ตกในระยะนี้จะเป็นผลดีกับพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต และเจริญเติบโตทางผล แต่ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเติมออกซิเจนให้กับน้ำ
ภาคกลาง
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 31 ส.ค. - 4 ก.ย. 63 อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- พื้นที่การเกษตรซึ่งเป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรขุดลอกคูคลอง ทางระบายน้ำอย่าให้ตื้นเขิน เพื่อให้น้ำระบายได้สะดวกป้องกันน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร รวมทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับสูบน้ำเอาไว้ให้พร้อมใช้งานและดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในการเกษตรอย่าให้ชำรุดเสียหายจนเป็นอันตรายแก่ผู้ใช้งาน ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก หลังคาไม่รั่วซึม แผงกำบังฝนสาดอยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยง เปียกฝน หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคตะวันออก
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยางในยางพารา เป็นต้น และไม่ควรปล่อยให้น้ำขังบริเวณโคนต้นพืชนานเพราะจะทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝน ที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ
ภาคใต้
มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยางในยางพารา เป็นต้น และไม่ควรปล่อยให้น้ำขังบริเวณโคนต้นพืชนานเพราะจะทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝน ที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ
ระหว่างวันที่ 24-30 สิงหาคม 2563 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาและลาวเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ยในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ และพาดผ่านประเทศลาวและเวียดนามตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนในระยะกลางสัปดาห์ กับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามและอ่าวตังเกี๋ย ในระยะปลายสัปดาห์ โดยมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยตลอดสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยมีปริมาณและการกระจายของฝนไม่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะบริเวณประเทศไทยตอนบนที่มีฝนลดลงจากช่วงที่ผ่านมา
ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 24 และ 26 ส.ค. มีฝนร้อยละ 55-70 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักมากบางแห่งในวันที่ 29 ส.ค. และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดพิษณุโลกในวันที่ 26 ส.ค. บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 28 และ 29 ส.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนน้อยกว่าร้อยละ 15 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 24, 26 และ 27 ส.ค. มีฝนร้อยละ 35-70 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดนครพนมในวันที่ 29 ส.ค. กับมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดกาฬสินธุ์ในวันที่ 28 ส.ค. บริเวณจังหวัดสกลนครและขอนแก่น ในวันที่ 29 ส.ค. ภาคกลาง มีฝนน้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ เว้นแต่ในวันที่ 27 ส.ค. มีฝนมากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ภาคตะวันออก มีฝนน้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 28 ส.ค. มีฝนมากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนน้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่ง จากนั้นมีฝนร้อยละ 30-50 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนร้อยละ 10-50 ของพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่ง จากนั้นมีฝนมากกว่า ร้อยละ 60 ของพื้นที่
สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดลำพูน นครสวรรค์ กรุงเทพมหานคร และยะลา ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร หนองคาย นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครราชสีมา ศรีสะเกษ
อุบลราชธานี อำนาจเจริญ สิงห์บุรี ลพบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ระยอง ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา