พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 14 – 20 กันยายน พ.ศ. 2563
ออกประกาศวันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2563
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 111/63
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 14 - 15 ก.ย. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกและภาคใต้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากว่า 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 16 - 17 ก.ย. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคตะวันออกและภาคใต้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ทั้งนี้เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกจะเคลื่อนผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนกลาง และคาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันในระยะต่อไป โดยในช่วงวันที่ 18 – 20 ก.ย. จะเคลื่อนตัวเข้าใกล้อ่าวตังเกี๋ยและชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 3-5 เมตร และอ่าวไทยคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
คำเตือน ในช่วงวันที่ 14 - 15 และ วันที่ 18 – 20 ก.ย. บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีฝนตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับบริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และงดการเดินเรือในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนอง
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 15 – 17 ก.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 20 ก.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
-ในช่วงที่มีฝนตกทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และไม้ดอก ตลอดจนพืชผักต่างๆ เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นฤดูหนาว เกษตรกรควรจัดเตรียมวัสดุสำหรับเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์และเตรียมอุปกรณ์สำหรับกันหนาวสำหรับตัวเองไว้ให้พร้อม สำหรับทางตอนบนของภาค เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ทางด้านการเกษตร
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 15 - 17 ก.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 20 ก.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
-ในช่วงที่มีฝนตก เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์อ่อนแอและเป็นโรค ได้ง่าย โดยเฉพาะสัตว์เท้ากีบเช่นโคและกระบือเป็นต้น อาจเป็นโรคปากและเท้าเปื่อยได้ เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นฤดูหนาวปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง รวมทั้งควรจัดเตรียมวัสดุสำหรับเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์และเตรียมอุปกรณ์สำหรับกันหนาวสำหรับตนเองไว้ให้พร้อม
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 14 – 17 ก.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 20 ก.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- พื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูก เพื่อป้องกันน้ำขังในพื้นที่การเกษตรนานทำให้รากพืชขาดอากาศ ต้นพืชตายได้ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรยกพื้นคอกสัตว์ให้สูงขึ้น และเตรียมพื้นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึงเอาไว้สำหรับอพยพสัตว์เลี้ยง เมื่อเกิดสภาวะน้ำท่วม รวมทั้งควรหมั่นสังเกตบริเวณโรงเรือนเลี้ยงสัตว์เพราะอาจมีสัตว์มีพิษเข้ามาอาศัยหลบฝนและอาจทำร้ายสัตว์เลี้ยงได้หากพบควรรีบจัดการให้ออกไปจากโรงเรือน
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 14 – 17 ก.ย.63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 20 ก.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูก อย่าให้น้ำขังในพื้นที่การเกษตรนาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่าต้นพืชตายได้ ในช่วงที่มีฝนตกทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่าโคนเน่า ในไม้ผล โรคใบยางร่วงลูกยางเน่าในยางพารา เป็นต้น
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 14 - 16 ก.ย. 63 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ในช่วงวันที่ 17 - 20 ก.ย. 63 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-85 %
ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 18 - 20 ก.ย. 63 อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 14 - 16 ก.ย. 63 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 17 - 20 ก.ย. 63 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 3-5 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %
- สำหรับทางฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางฝั่งตะวันออก กับมีฝนตกหนักได้บางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูกพืชอย่าให้น้ำขังบริเวณโคนต้นพืชนาน ป้องกันรากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ ส่วนทางฝั่งตะวันออกฝนที่ตกและหยุดตกสลับกัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชสวนและพืชผัก อนึ่ง บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีคลื่นสูง1-2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และงดเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ระหว่างวันที่ 7 - 13 กันยายน 2563 ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นได้เลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมาและลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนระยะหนึ่ง ก่อนจะเลื่อนกลับลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในช่วงปลายสัปดาห์ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกและอ่าวไทยในวันแรกของสัปดาห์ และพัดปกคลุมภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระยะกลางสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์ โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ และมีรายงานน้ำท่วมในบางพื้นที่
ภาคเหนือ มีฝนร้อยละ 25-50 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 8 และ 11 ก.ย. มีฝนร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 7 และ 11 ก.ย. และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดน่านในวันที่ 7 ก.ย. บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงรายในวันที่ 8 ก.ย. กับมีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดเชียงรายในวันที่ 8 ก.ย. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดพิจิตรในวันที่ 9 ก.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันแรกของสัปดาห์ โดยมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 13 ก.ย.
ภาคกลาง มีฝนร้อยละ 5-45 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันแรกของสัปดาห์มีฝนร้อยละ 85 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดสัปดาห์
ภาคตะวันออก มีฝนร้อยละ 50-70 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่ง และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดสระแก้วในวันที่ 7 ก.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 50-80 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ โดยเฉพาะในวันที่ 10 ก.ย. มีฝนร้อยละ 90 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 8 และ 11 ก.ย. และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดยะลาในวันที่ 10 ก.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ เว้นแต่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์มีฝนร้อยละ 40 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งตลอดสัปดาห์ และมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 8 และ 12 ก.ย. โดยมีรายงานดินถล่มบริเวณจังหวัดภูเก็ตในวันที่ 8 ก.ย. และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดพังงาในวันที่ 10 และ 12 ก.ย.
สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดน่าน พิจิตร เพชรบูรณ์ หนองคาย นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี นราธิวาส และพังงา ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร เลย อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา ระนอง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา