พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 2 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2563
ออกประกาศวันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2563
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 132/63
การคาดหมายลักษณะอากาศ บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ตลอดช่วง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นและมีลมแรง โดยในช่วงวันที่ 5-7 พ.ย. บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนบางแห่งกับมีลมแรง เนื่องจาก พายุโซนร้อน "โคนี" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางมีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ในช่วงวันที่ 4-5 พ.ย. และจะอ่อนกำลังลงในระยะต่อไป สำหรับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนบนและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
คำเตือน เกษตรกรบริเวณประเทศไทยตอนบนควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน สำหรับเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยของภาคใต้ ขอให้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
อากาศเย็นในตอนเช้า ตลอดช่วง อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยในช่วงวันที่ 6-7 พ.ย.63 มีฝนร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %
- อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศา โดยจะมีอากาศเย็นในตอนเช้า และมีฝนบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 6-7 พ.ย. เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย รวมทั้งควรระวังและป้องกันผลผลิตทางการเกษตรที่อยู่ในระยะเก็บเกี่ยวเสียหาย เนื่องจากฝนที่ตกไว้ด้วย สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ควรลดการให้ปริมาณอาหารลง เนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อย และเป็นการป้องกันอาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อากาศเย็นกับมีลมแรง ตลอดช่วง อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส โดยในช่วงวันที่ 5-7 พ.ย. 63 มีฝนร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันออกและตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศา อากาศเย็นกับมีลมแรง และมีฝนบางพื้นที เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นร่างกายอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ควรทำแผงกำบังลมหนาวให้กับสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงหนาวเย็นจนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็กควรเพิ่มดวงไฟในโรงเรือนเพื่อให้ความอบอุ่น นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันผลผลิตทางการเกษตรที่อยู่ในระยะเก็บเกี่ยวเสียหาย เนื่องจากฝนที่ตกไว้ด้วย
ภาคกลาง
อากาศเย็นในตอนเช้า ตลอดช่วง อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส โดยในช่วงวันที่ 6-7 พ.ย. 63 มีฝนร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %
- อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศา อากาศเย็นในตอนเช้า เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ปีก ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคตะวันออก
อากาศเย็นกับมีลมแรง ตลอดช่วง อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส โดยในช่วงวันที่ 5-7 พ.ย. 63 มีฝนร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
- อากาศเย็นในตอนเช้า กับมีลมแรง โดยมีฝนบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 5-7 พ.ย. เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผล และพืชผักต่างๆ สำหรับพื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมขังในช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูก อย่าให้น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้รากขาดอากาศต้นพืชตายได้ อนึ่ง บริเวณอ่าวไทยตอนบนจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %
ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %
- มีฝนและฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคราสีชมพูในลองกองโรคหน้ากรีดยาง และโรคราเส้นดำในยางพารา เป็นต้น
อนึ่ง บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย จะมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
ระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2563 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะต้นสัปดาห์ โดยในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์บริเวณความกดอากาศสูงอีกระลอกหนึ่งได้แผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศเย็น นอกจากนี้ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุหมุนเขตร้อนจำนวน 2 ลูก คือ ไต้ฝุ่น "โซเดล (SAUDEL (2017))" ในทะเลจีนใต้ตอนกลางที่เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามในช่วงเช้าของวันที่ 26 ต.ค. ขณะมีกำลังแรงเป็นพายุดีเปรสชันและเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศลาวก่อนจะสลายตัวไปในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน และไต้ฝุ่น "โมลาเบ (MOLAVE (2018))" ในทะเลจีนใต้ตอนกลางที่เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกวางงาย ประเทศเวียดนาม เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 28 ต.ค. แล้วอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนบริเวณเมืองกวางนาม ประเทศเวียดนามในช่วงเย็นของวันเดียวกัน จากนั้นพายุลูกนี้ได้เคลื่อนตัวผ่านประเทศลาว แล้วอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันก่อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณอำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเวลา 02.00 น. ของวันที่ 29 ต.ค. พร้อมกับอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันเดียวกันก่อนจะสลายตัวในวันต่อมา พายุทั้งสองลูกนี้ส่งผลทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นในระยะกลางและปลายสัปดาห์
สำหรับภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นได้เปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้มีฝนตกหนาแน่นเกือบตลอดสัปดาห์
ภาคเหนือ มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในวันแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นหลายพื้นที่ สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด โดยมีฝนร้อยละ 15-60 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 29-30 ต.ค. มีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 26, 29 และ 30 ต.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไปในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นหลายพื้นที่ สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาว โดยมีฝนร้อยละ 5-50 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 26, 28 และ 29 ต.ค. มีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ โดยเฉพาะในวันที่ 28 ต.ค. มีฝนหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง โดยมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องบริเวณจังหวัด นครราชสีมา และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดอุบลราชธานีในวันที่ 29 ต.ค. ภาคกลาง มีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 15-50 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 29-31 ต.ค. มีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะกลางและปลายสัปดาห์ ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่กับมีอากาศหนาวบริเวณเทือกเขาในวันแรกของสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 25-40 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในวันที่ 29 ต.ค. และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดจันทบุรีในวันที่ 30 ต.ค. จังหวัดปราจีนบุรีในวันที่ 1 พ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 50-75 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 30 ต.ค. มีฝนร้อยละ 90 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดชุมพรในวันที่ 28 ต.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนมากกว่าร้อยละ 75 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดนครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ตราด และระนอง ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ ลำปาง อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี สงขลา พังงา ภูเก็ต ตรัง และสตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา