พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 4 - 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ข่าวทั่วไป Wednesday November 4, 2020 15:26 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 4 - 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ออกประกาศวันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 133/63

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 4 - 7 พ.ย. 63 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับพายุโซนร้อน "โคนี" (พายุระดับ 3) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางมีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง และจะอ่อนกำลังลงในวันที่ 6 พ.ย. 63 ทำให้บริเวณประเทศตอนบนมีฝนบางแห่ง และมีฝนตกหนักบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 8 - 10 พ.ย. 63 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นและมีลมแรง สำหรับร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนบนและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

คำเตือน ระยะนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีสภาพอากาศที่แปรปรวน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ส่วนบริเวณภาคใต้จะมีฝนที่ตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับในช่วงวันที่ 6-7 พ.ย. จะมีฝนกับฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันออกและตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกษตรกรควรป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อพืชผลทางการเกษตรไว้ด้วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 4 - 7 พ.ย. 63 อากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีฝนร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 8 - 10 พ.ย. 63 อากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลงเนื่องจากเป็นต้นฤดูหนาว เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็กควรจัดเตรียมอุปกรณ์เพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือน เอาไว้ให้พร้อมใช้งาน เพื่อป้องกันสัตว์หนาวเย็น นอกจากนี้เกษตรกรที่ปลูกไม้ผลที่ออกดอกในช่วงฤดูหนาวโดยเฉพาะลิ้นจี่และลำไยควรกำจัดวัชพืชในสวนและบริเวณโคนต้นให้โล่งเตียน เพื่อไม่ให้แย่งน้ำและธาตุอาหารจากไม้ผลดังกล่าว และทำให้ดินแห้ง ต้นพืชเตรียมแทงช่อดอกเมื่ออากาศมีความหนาวเย็นยาวนานและเพียงพอ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 4 - 7 พ.ย. 63 อากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย โดยในช่วงวันที่ 6-7 พ.ย. 63 มีฝนร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูจะมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 13-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 8 - 10 พ.ย. 63 อากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 17-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูจะมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 11-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %

  • ระยะนี้อุณหภูมิจะลดลง เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันร่างกายหนาวเย็น จนอ่อนแอและเกิดการเจ็บป่วย สำหรับบางช่วงจะมีลมแรง เกษตรกรควรทำแผงกำบังลมหนาวให้แก่สัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันลมโกรกโรงเรือนทำให้สัตว์หนาวเย็น อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็กควรเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือน เนื่องจากความต้านทานความหนาวเย็นยังไม่เท่าสัตว์ที่โตเต็มวัย ส่วนระยะนี้และระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้งปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควร เก็บกักน้ำเอาไว้ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในการเกษตรในช่วงที่มีฝนตกน้อย ในช่วงวันที่6-7 พ.ย. จะมีฝนกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันออกและตอนล่างของภาค เกษตรกรไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง เพราะจะทำให้เสียหายได้

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 4 - 7 พ.ย. 63 อากาศเย็นในตอนเช้า โดยในช่วงวันที่ 6-7 พ.ย. 63 มีฝนร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 8 - 10 พ.ย. 63 อากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียสลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

  • ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนพื้นที่การเกษตร ที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง สำหรับฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 4 - 7 พ.ย. 63 อากาศเย็นในตอนเช้า โดยในช่วงวันที่ 6-7 พ.ย. 63 มีฝนร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 8 - 10 พ.ย. 63 อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

  • ระยะนี้อากาศแปรปรวน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย แม้ปริมาณฝนจะลดลง แต่ความชื้นในดินยังคงมีอยู่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า ในไม้ผล ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย การผลิดอกออกผลลดลงได้ สำหรับฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่นใบอ่อนและยอดอ่อนทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 4 - 6 พ.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 10 พ.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 4 - 6 พ.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 7 - 10 พ.ย. 63 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงฤดูฝนของทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งจะมีฝนกับฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูก ขุดลอกคูคลองและสันดอนปากแม่น้ำอย่าให้ตื้นเขิน เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก สำหรับชาวสวนผลไม้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องได้ทั่วถึงรวมทั้งกำจัดวัชพืชบริเวณสวนและโคนต้นให้โล่งเตียน อนึ่ง บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย จะมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
ลักษณะอากาศในรอบ 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2563 มีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดนครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และตราด ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ ลำปาง อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ยโสธร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ