พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 9 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
ออกประกาศวันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 10 - 15 พ.ย. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบน มีอุณหภูมิลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นและมีลมแรง ในขณะที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนบนและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อนึ่ง พายุโซนร้อน "เอตาว" (พายุระดับ 3) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางมีแนวโน้มเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง ในวันที่ 10 พ.ย. 63 ทำให้ในช่วงวันที่ 10 - 12 พ.ย. 63 บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก มีฝนบางแห่งกับมีลมแรง
คำเตือน ระยะนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนอากาศแปรปรวน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนบริเวณภาคใต้จะมีฝนที่ตกหนักถึงหนักมากซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 10 - 15 พ.ย. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยในช่วงวันที่ 11 - 12 พ.ย. 63 มีฝนร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 15-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %
- ระยะนี้อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรทำแผงกำบังลมหนาวให้กับสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันลมโกรกโรงเรือน โดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็กควรเพิ่มอุณหภูมิภายในโรงเรือน เพื่อป้องกันสัตว์หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้ควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 10 - 15 พ.ย. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส โดยในช่วงวันที่ 10 - 12 พ.ย. 63 มีฝนร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 14-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-31 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูจะมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 %
- ระยะนี้อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรงและอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรทำแผงกำบังลมหนาวให้กับสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันลมโกรกโรงเรือน โดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็กควรเพิ่มอุณหภูมิภายในโรงเรือน เพื่อป้องกันสัตว์หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหารลง เนื่องจากอุณหภูมิที่ลดลงจะทำให้สัตว์กินอาหารได้น้อย อาหารที่เหลือทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งผลให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 10 - 15 พ.ย. อากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยในช่วงวันที่ 11 - 12 พ.ย. 63 มีฝนร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %
- ระยะนี้อากาศเย็นและอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับฝนที่ลดลงในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผลและพืชผัก เป็นต้น ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อนทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 10 - 15 พ.ย. อากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยในช่วงวันที่ 11 - 12 พ.ย. 63 มีฝนร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียสลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- ในช่วงนี้อากาศเย็นอุณหภูมิจะลดลง1-3 องศาเซลเซียส และมีฝนบางแห่ง เกษตรกรควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับระยะนี้และต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรกักเก็บน้ำเอาไว้ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง ส่วนฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อน เช่น ใบอ่อนและยอดอ่อนทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %
ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- ระยะนี้ จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง เกษตรกรควรทำทางระบายน้ำออกจากแปลงปลูกพืช ขุดลอกคูคลองระบายน้ำ และสันดอนปากแม่น้ำ อย่าให้ตื้นเขินติดขัด เพื่อให้น้ำระบายได้สะดวก ป้องกันน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวน เช่น โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรคใบยางร่วงลูกยางเน่าในยางพารา เป็นต้น ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อเลี้ยง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อให้น้ำรวมเป็นเนื้อเดียวกันป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ
ระหว่างวันที่ 2 - 8 พฤศจิกายน 2563 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระยะต้นสัปดาห์จากนั้นได้แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน โดยในวันสุดท้ายของสัปดาห์บริเวณความกดอากาศสูงอีกระลอกจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อนึ่ง พายุโซนร้อน "โคนี (GONI (2019))" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันเมื่อเวลา 01.00 น. ของวันที่ 6 พ.ย. แล้วเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ก่อนอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณดังกล่าวในช่วงเช้าของวันเดียวกัน จากนั้นได้เคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศกัมพูชาในวันต่อมา ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับมีฝนส่วนมากในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ ส่วนภาคใต้มีฝนตลอดสัปดาห์จากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคใต้ตอนล่างในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เกือบตลอดสัปดาห์
ภาคเหนือมีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีอากาศเย็นเกือบทั่วไป สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาว โดยมีฝนร้อยละ 5-35 ของพื้นที่ตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 2, 4 และ 7 พ.ย. และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 2 พ.ย. กับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนในวันที่ 4 พ.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นเกือบทั่วไป สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาว โดยมีฝนเล็กน้อยร้อยละ 5-30 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ และมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องบริเวณจังหวัดนครราชสีมา ภาคกลางมีอากาศเย็นบางพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในระยะกลางสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 15-40 ของพื้นที่ในวันแรกและในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ และมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี ภาคตะวันออกมีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 10-25 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 7 พ.ย. มีฝนร้อยละ 55 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนมากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ในวันแรกและในระยะปลายสัปดาห์ ส่วนวันอื่น ๆ มีฝนร้อยละ 25-55 ของพื้นที่ โดยมีฝนหนักบางแห่งเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักมากบางพื้นที่ในระยะปลายสัปดาห์ และมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 7 พ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนร้อยละ 60-85 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่ง
สัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดชุมพร และสุราษฎร์ธานี ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ กำแพงเพชร สระแก้ว จันทบุรี ตราด นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และ สตูล
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา