พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 20 - 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ข่าวทั่วไป Friday November 20, 2020 15:18 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 20 - 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 140/63

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 21-26 พ.ย. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเกิดขึ้นในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 23-26 พ.ย. โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

คำเตือน ในช่วงนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศเย็น โดยในช่วงวันที่ 21-24 พ.ย. บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนบางแห่ง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยและหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตไว้กลางแจ้ง ส่วนภาคใต้ในช่วงวันที่ 21-26 พ.ย.จะมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 20-26 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยในช่วงวันที่ 22-23 พ.ย. จะมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 17-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ระยะนี้จะมีอากาศเย็นและมีฝนบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคใบไหม้ในมันฝรั่ง นอกจากนี้ในช่วงวันที่ 21-24 พ.ย. ไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 21-22 พ.ย. อากาศเย็นกับมีฝนร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 23-26 พ.ย. อากาศเย็นกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-15 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ในช่วงนี้จะมีอากาศเย็นกับมีลมแรงและมีฝนบางแห่ง เกษตรกรควรทำแผงกำบังลมหนาวให้แก่สัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ในช่วงวันที่ 21-24 พ.ย. ไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 20-23 พ.ย. มีเมฆเป็นส่วนมากกับมีฝนร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 24-26 พ.ย. อากาศเย็น และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ระยะนี้จะมีอากาศเย็นและมีฝนบางแห่ง ในช่วงที่มีอากาศเย็นสัตว์น้ำจะกินอาหารได้น้อยเกษตรกรควรให้ปริมาณอาหารแก่สัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ในช่วงวันที่ 20-23 พ.ย. ไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 20-23 พ.ย. มีเมฆเป็นส่วนมากกับมีฝนร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 24-26 พ.ย. อากาศเย็นกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ในช่วงนี้จะมีอากาศเย็นและมีฝนบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคแอนแทรคโนสหรือโรคกุ้งแห้งในพริก นอกจากนี้ในช่วงวันที่ 20-23 พ.ย. ไม่ควรตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 21-26 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 21-26 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

  • ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร รวมทั้งควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก นอกจากนี้ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อ เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยนสัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 13-19 พฤศจิกายน 2563 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนตลอดช่วง โดยมีกำลังอ่อนลงในระยะครึ่งหลังของช่วง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลัง

อ่อนลงในระยะครึ่งหลังของช่วง กับมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซียในระยะปลายช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในระยะครึ่งแรกของช่วง โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศหนาวในบางพื้นที่ จากนั้นหลายพื้นที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น กับมีฝนบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระยะกลางช่วงจากอิทธิพลของไต้ฝุ่น "หว่ามก๋อ (VAMCO (2022))" ที่เคลื่อนขึ้นฝั่งที่เมืองดองฮอย ประเทศเวียดนามในวันที่ 15 พ.ย. แล้วเคลื่อนเข้ามาสลายตัวบริเวณประเทศลาว ส่วนภาคใต้มีฝนหนาแน่น ส่วนมากทางฝั่งตะวันออกของภาค ภาคเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ทางตอนบนของภาคในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นเกือบทั่วไป สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไปตลอดช่วง กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ในระยะต้นช่วง สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาว โดยมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ในระยะกลางช่วง ภาคกลาง มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นในหลายพื้นที่ ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นในบางพื้นที่ โดยมีฝนบางพื้นที่ในวันสุดท้ายของช่วง ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนร้อยละ 40-80 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนร้อยละ 35-75 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง เว้นแต่ในวันที่ 15-16 มีฝนร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันแรกของช่วง

ช่วงที่ผ่านมาบริเวณภาคใต้มีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ส่วนบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ พัทลุงและตรัง ปริมาณฝนสูงสุดวัดได้ 143.4 มิลลิเมตร ที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ