พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 14 - 20 ธันวาคม พ.ศ.2563

ข่าวทั่วไป Monday December 14, 2020 15:51 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 14 - 20 ธันวาคม พ.ศ.2563

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2563

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 150/63

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 15-20 ธ.ค. 63 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนอีกระลอกหนึ่งจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส โดยมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง ส่วนบริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

คำเตือนขอให้เกษตรกรบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพ เนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นลง สำหรับเกษตรกรในภาคใต้ควรระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนัก ไว้ด้วย ส่วนชาวเรือและชาวประมงบริเวณอ่าวไทย ขอให้เดินเรือด้วยความระมัดระวัง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 14-16 ธ.ค. 63 อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 14-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-14 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 17-20 ธ.ค. 63 อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-31 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ละมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 2-10 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • อากาศเย็นถึงหนาว เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย นอกจากนี้ในช่วงวันที่ 14-16 ธ.ค. จะมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวผลผลิตมาแล้ว ไม่ควรตากไว้กลางแจ้งข้ามคืน เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายเนื่องจากหมอกและน้ำค้างได้ รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคราน้ำค้างในพืชตระกูลแตง เป็นต้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 14-15 ธ.ค. 63 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 16-20 ธ.ค. 63 อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นถึงหนาวและมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 14-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-30 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ระยะนี้อากาศแปรปรวน เกษตรกรควรให้ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับการเกษตรที่เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ปีก เช่น ไก่ และนกกระทา เป็นต้น ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน โดยเกษตรกรควรทำแผงกำบังลมหนาว หรือเพิ่มหลอดไฟฟ้า เพื่อให้ความอบอุ่นแก่สัตว์เลี้ยง

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 14-16 ธ.ค. 63 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 17-20 ธ.ค. 63 อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ระยะนี้อากาศแปรปรวน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้เข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย นอกจากนี้เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบายของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ย และไรต่างๆ ไว้ด้วย สำหรับเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน ควรวางแผนการใช้น้ำที่กักเก็บไว้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ตลอดช่วงแล้ง

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 14-16 ธ.ค. 63 มีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 17 - 20 ธ.ค. 63 อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส กับมีอากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ระยะนี้อากาศแปรปรวน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็ง รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ควรปรับลดปริมาณอาหารลง เนื่องจากอากาศที่เย็น ทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อยลง และควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อเพิ่มออกชิเจนในน้ำ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 14-16 ธ.ค. 63 ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 17-20 ธ.ค. 63 ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

  • จะมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังแปลงปลูก เมื่อมีฝนตกหนัก รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวน โดยเฉพาะในสวนยางพารา และส่วนปาล์มน้ำ เป็นต้น อนึ่ง บริเวณทะเลอ่าวไทย จะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมง ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ลักษณะอากาศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 7-13 ธันวาคม 2563 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นได้อ่อนกำลังลง ประกอบกับลมตะวันตกพัดจากประเทศเมียนมาเข้ามาปกคลุมบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในระยะต้นและกลางสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นทั่วไปกับมีอากาศหนาวบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนเกือบตลอดสัปดาห์ ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา

ภาคเหนือ มีอากาศหนาวทางตอนบนของภาค ส่วนทางตอนล่างของภาคมีอากาศเย็น สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศหนาวบางพื้นที่ในวันที่ 11-12 ธ.ค. สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดภาคกลาง มีอากาศเย็นทั่วไปในระยะต้นและกลางสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ของจังหวัดลพบุรีในวันที่ 7 และ 10 ธ.ค. ต่อจากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นหลายพื้นที่ ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 5-30 ของพื้นที่ในระยะปลายสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปส่วนมากทางตอนบนของภาค โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ จากนั้นมีฝนร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะกลางและปลายสัปดาห์ และมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุงและสงขลา ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปทางตอนบนของภาค โดยมีฝนร้อยละ 15 ของพื้นที่ในวันที่ 11 ธ.ค. จากนั้นมีฝนมากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง และมีรายงานน้ำท่วมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาบริเวณจังหวัดตรัง

ช่วง 7 วันที่ผ่านมาไม่มีรายงานฝนตกหนักมาก สำหรับบริเวณจังหวัดที่มีฝนตกหนักได้แก่ ระยอง ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี พังงา ตรัง และสตูล โดยวัดปริมาณฝนสูงสุด ได้ 80.0 มิลลิเมตร ที่อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2563

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ