พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 18 - 24 มกราคม พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Monday January 18, 2021 14:11 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 18 - 24 มกราคม พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 8/64

การคาดหมายลักษณะอากาศในช่วงวันที่ 18 - 20 ม.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง โดยภาคเหนืออุณหภูมิจะลดลง 4 - 8 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 24 ม.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวอุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังอ่อน

คำเตือน ในช่วงวันที่ 18 - 20 ม.ค. 64 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศหนาวเย็นลง เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอและดูแลสุขภาพให้แข็งแรง สำหรับบริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งควรระมัดระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่ง อนึ่ง ในช่วงวันที่ 21 - 24 ม.ค. 64 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรระมัดระวังในการสัญจรโดยเฉพาะขณะผ่านบริเวณที่มีหมอกหนาไว้ด้วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 18 - 20 ม.ค. 64 อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 4-8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 10-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 3-10 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 21-24 ม.ค. 64 อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 12-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 25-30 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

  • ระยะนี้จะมีอากาศหนาวเย็น เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอและรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับบริเวณยอดดอยจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดกับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตร ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนและไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งตอนกลางคืน เพราะอาจทำให้สัตว์ที่ไม่แข็งแรงตายได้ นอกจากนี้ ควรคลุมดินด้วยวัสดุสีเข้มเพื่อรักษาอุณหภูมิดินและรักษาความชื้นภายในดิน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 18 - 20 ม.ค. 64 อากาศหนาวถึงหนาวจัดกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 7-15 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 23-26 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-11 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 24 ม.ค. 64 อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 13-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 24-30 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

  • ระยะนี้จะมีอากาศหนาวเย็นกับมีลมแรง เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลแผงกำบังลมหนาวให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติและควรเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงหนาวเย็น จนอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหาร เนื่องจากอุณหภูมิที่ต่ำจะทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อยลงอาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย สัตว์น้ำจะอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับเกษตรกรที่ติดไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ตนเองควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน เพื่อป้องกันไฟลุกลามจนเป็นอัคคีภัย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 18 - 20 ม.ค. 64 อากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 15-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือความเร็ว 15-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 24 ม.ค. 64 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีอากาศเย็น เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรลดปริมาณอาหารลงเพื่อป้องกันอาหารเหลือ ทำให้น้ำเน่าเสีย สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้ควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อลดการระเหยของน้ำ อนึ่ง ในช่วงฤดูหนาวอากาศจมตัว เกษตรกรไม่ควรเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพราะควันไฟจะแผ่ปกคลุมบริเวณข้างเคียง ทำให้ทัศนวิสัยลดลงเป็นอุปสรรคต่อการสัญจร และควันไฟอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ G

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ส่วนในช่วงวันที่ 18 - 20 ม.ค. 64 อากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 15-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ในช่วงวันที่ 21 - 24 ม.ค. 64 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและ มีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 2-4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 6-9 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีอากาศเย็นและมีลมแรง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับในช่วงที่มีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรที่ปลูกมะม่วงควรระวังและป้องกันโรคราดำ โดยฉีดน้ำบริเวณทรงพุ่มก็จะลดการระบาดของโรคดังกล่าวแต่ไม่ควรฉีดแรงจนเกินไปเพราะจะทำให้ช่อดอกช้ำการติดผลลดลง อนึ่ง ในช่วงฤดูหนาวอากาศจมตัว เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพราะควันไฟจะลอยขึ้นไปในบรรยากาศไม่สะดวก ทำให้ทัศนวิสัยลดลงเป็นอุปสรรคต่อการใช้รถใช้ถนนและควันไฟอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก มีฝนร้อยละ 10 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 18 - 20 ม.ค. 64 ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา: ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป: ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนในวันที่ 21-24 ม.ค. 64 ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 5-8 ชม.

ฝั่งตะวันตก มีฝนร้อยละ 10 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 18 - 20 ม.ค. 64 ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 24 ม.ค. 64ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • ระยะนี้ทางตอนบนของภาคอากาศเย็น เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ส่วนทางตอนล่างของภาคควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชสวนและพืชผัก อนึ่ง บริเวณอ่าวไทยตอนล่างจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร เกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งควรระวังความเสียหายที่อาจเกิดจากคลื่นลมแรงที่ชัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือและชาวประมง ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ โดยเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 11 - 17 มกราคม 2564 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะต้นสัปดาห์จากนั้นอ่อนกำลังลง โดยบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณดังกล่าวในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ส่งผลให้เกือบทุกภาคของประเทศไทยมีอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดสัปดาห์ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศหนาวจัดบางพื้นที่ในวันที่ 12-13 ม.ค. สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ ทำให้ภาคใต้มีฝนหนาแน่นในระยะดังกล่าวจากนั้นมีฝนลดลง

ภาคเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไปกับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศหนาวทั่วไป กับมีอากาศหนาวจัดบางพื้นที่ของจังหวัดตากในวันที่ 13 ม.ค. โดยในระยะปลายสัปดาห์มีอากาศหนาวทั่วไปทางตอนบนของภาค ส่วนทางตอนล่างของภาคมีอากาศหนาวบางพื้นที่ สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด โดยมีฝนเล็กน้อยร้อยละ 5 ของพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์และในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศหนาวทั่วไปในระยะต้นและกลางสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวจัดบางพื้นที่ทางตอนบนของภาคในวันที่ 12 - 13 ม.ค. จากนั้นอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ในวันที่ 16 ม.ค. และมีอากาศเย็นทั่วไปในวันสุดท้ายของสัปดาห์ สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด โดยมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ในวันที่ 12 ม.ค. ภาคกลาง มีอากาศหนาวเกือบทั่วไปในวันที่ 12-15 ม.ค. กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ในวันที่ 17 ม.ค. ส่วนวันอื่นๆ มีอากาศเย็นทั่วไป ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นทั่วไปตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ส่วนมากทางตอนบนของภาคในวันที่ 12-15 ม.ค. โดยมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ทางตอนบนของภาคในระยะกลางสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 35-50 ของพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ จากนั้นมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 5-20 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 11 และ 16 ม.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีอากาศเย็นหลายพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์และในวันสุดท้ายของสัปดาห์

สัปดาห์ที่ผ่านมาภาคใต้มีฝนตกหนักบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี พัทลุง และสงขลา โดยวัดปริมาณฝนสูงสุดได้ 40.0 มิลลิเมตร ที่อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ