พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 15 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
ออกประกาศวันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 20/64
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 15-16 ก.พ. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียสกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อย ส่วนในช่วงวันที่ 17-21 ก.พ. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 17-18 ก.พ. หลังจากนั้นอากาศจะหนาวเย็นลงกับมีลมแรง โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
คำเตือน ในช่วงนี้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศเย็นถึงหนาว เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันความเจ็บป่วย โดยในช่วงวันที่ 17-18 ก.พ. จะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง เกษตรกรไม่ควรตากผลผลิตไว้กลางแจ้ง สำหรับในช่วงวันที่ 18-21 ก.พ. บริเวณอ่าวไทยตอนล่างจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 16-17 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 12-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 2-10 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 18-21 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ส่วนมากทางตอนบนของภาคในช่วงวันที่ 18-19 ก.พ. อุณหภูมิต่ำสุด 11-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 1-8 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 7-10 ชม.
- ระยะนี้จะมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันแมลงวันทองในพริก นอกจากนี้ไม่ควรตากผลผลิตไว้กลางแจ้งเนื่องจากจะมีฝนฟ้าคะนองในช่วงวันที่ 18-19 ก.พ.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 15-16 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 15-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 17-21 ก.พ. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งส่วนมากตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 15-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-13 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 7-10 ชม.
- ในช่วงนี้จะมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง เกษตรกรควรทำแผงกำบังลมให้แก่สัตว์เลี้ยง และเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงหนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้ควรวางแผนใช้น้ำทางด้านการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 15-17 ก.พ. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 18-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 18-21 ก.พ. อากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 7-10 ชม.
- ระยะนี้จะมีอากาศเย็นทำให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อยลง เกษตรกรควรปรับลดปริมาณอาหารแก่สัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงอย่างเหมาะสม หากเกษตรกรต้องการปลูกพืชรอบใหม่ควรเลือกพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 15-17 ก.พ. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 18-21 ก.พ. อากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 7-10 ชม.
- ในช่วงนี้จะมีอากาศเย็น เกษตรกรควรระวังและป้องกันด้วงหนวดยาวในอ้อยระยะแตกกอ นอกจากนี้ควรกำจัดวัชพืช ดูแลสวนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก และเก็บเศษซากพืชต่างๆ แล้วนำไปกำจัด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยหรือหลบซ่อนของสัตว์มีพิษ
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 15-17 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 18-21 ก.พ. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชขึ้นมา : ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดสงขลาลงไป: ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 7-10 ชม.
ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 15-17 ก.พ. ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ในช่วงวันที่ 18-21 ก.พ. ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- ระยะนี้จะมีแดดจัดและมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันเพลี้ยไฟในมะม่วงหิมพานต์ สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในไม้ผลและพืชผัก
ระหว่างวันที่ 8 - 14 กุมภาพันธ์ 2564 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านประเทศเมียนมาเข้าปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในระยะต้นสัปดาห์ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนโดยทั่วไปและมีรายงานลูกเห็บตกบางพื้นที่ในระยะดังกล่าว โดยบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะกลางสัปดาห์จากนั้นอ่อนกำลังลง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ โดยเฉพาะในระยะกลางและปลายสัปดาห์ที่อุณหภูมิลดลงจนมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับภาคใต้มีฝนบางพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ ส่วนมากทางฝั่งตะวันออกของภาคจากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังอ่อนที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เกือบตลอดสัปดาห์
ภาคเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไปกับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ทางตอนบนของภาคในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศหนาวเกือบทั่วไปทางตอนบนของภาค สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด โดยมีฝนร้อยละ 90 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในวันที่ 8 ก.พ. และมีฝนร้อยละ 15 ของพื้นที่ในวันที่ 9 ก.พ. กับมีรายงานลูกเห็บตกบริเวณจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายในวันที่ 8 ก.พ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไปกับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ทางตอนบนของภาคในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาว และมีอากาศหนาวจัดบางพื้นที่ในวันที่ 11-12 ก.พ. โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 8-9 ก.พ. และมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ทางตอนล่างของภาคในวันที่ 10 ก.พ. ภาคกลาง มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศเกือบเย็นทั่วไป โดยมีฝนร้อยละ 45-55 ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่งในระยะต้นสัปดาห์ ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นอุณหภูมิลดลงจนมีอากาศเย็นเกือบทั่วไป โดยมีฝนร้อยละ 55-80 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่งในระยะต้นสัปดาห์ จากนั้นมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 15 ของพื้นที่ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 9 ก.พ. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนน้อยกว่านร้อยละ 15 ของพื้นที่ในระยะต้นและกลางสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 12 ก.พ.
สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดเชียงราย กรุงเทพมหานคร นครนายก ระยอง และจันทบุรี ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ พะเยา ลำพูน น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร เลย หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น บุรีรัมย์ นครสวรรค์ นครปฐม ราชบุรี สมุทรปราการ ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และตรัง
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา