พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 19 - 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
ออกประกาศวันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 22/64
การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 19 - 21 ก.พ. 64 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกเคลื่อนผ่านภาคเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศหนาวเย็นลงกับมีลมแรง โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีอากาศเย็นในตอนเช้า สำหรับภาคเหนือตอนบนมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 22-25 ก.พ. 64 บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า อนึ่ง มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลงและคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง
คำเตือน ในช่วงวันที่ 19 - 21 ก.พ. บริเวณประเทศไทยตอนบนอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกัน การเจ็บป่วย สำหรับบริเวณอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ ส่วนในช่วงวันที่ 22 - 25 ก.พ. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรระมัดระวังในการสัญจร
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 19 - 21 ก.พ. 64 อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งส่วนมากทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 15-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 22-25 ก.พ. 64 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งส่วนมากทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 17-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-36 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 7-9 ชม.
- สำหรับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้บางพื้นที่จะมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคราน้ำค้าง ในพืชไร่ ไม้ดอก และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 19- 21 ก.พ. 64 อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 13-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 22-25 ก.พ. 64 อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 15-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูจะมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-16 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 7-9 ชม.
- เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งและมีลมแรง เกษตรกรควรระวังและป้องกันอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตร รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อป้องกันไฟลุกลาม หากมีความจำเป็นต้องจุดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชในระยะนี้ควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำของพืชในระยะเจริญเติบโต และระยะผลิดอกออกผล ซึ่งหากพืชได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ถ้าขาดน้ำจะทำให้ต้นพืชตาย สูญเสียผลผลิตโดยสิ้นเชิง
ภาคกลาง
ในช่วงวันที่ 19 - 21 ก.พ. 64 อากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 16-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 22-25 ก.พ. 64 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 8-9 ชม.
- สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด และวางแผนการใช้น้ำที่กักเก็บไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรในช่วงแล้ง ส่วนสภาพอากาศที่แห้งและมีลมแรง เกษตรกรควรระวังและป้องกันอัคคีภัย โดยหลีกเลี่ยงการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และ หญ้าแห้ง เป็นต้น หากมีความจำเป็นต้องจุดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆ ในพืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก เป็นต้น ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
ภาคตะวันออก
ในช่วงวันที่ 19 - 21 ก.พ. 64 อากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 22-25 ก.พ. 64 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเล มีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 6-8 ชม.
- ระยะนี้ฝนตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ นอกจากนี้บางพื้นที่จะมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคราดำในมะม่วง โดยฉีดพ่นน้ำบริเวณทรงพุ่ม ใบ และดอก แต่ไม่ควรฉีดน้ำแรงเกินไป โดยเฉพาะบริเวณช่อดอกเพราะจะทำให้ช่อดอกช้ำการติดผลลดลง
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 19 - 21 ก.พ. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานีขึ้นมา : ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราชลงไป: ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 22-25 ก.พ. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 18-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 8-9 ชม.
ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 19 - 21 ก.พ. 64 ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 22-25 ก.พ. 64 ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- ระยะนี้สภาพอากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะบริเวณสวนยางพารา ชาวสวนควรหลีกเลี่ยงการจุดไฟ หากมีความจำเป็นต้องจุดไฟควรดับให้สนิททุกครั้งหลังเลิกใช้งาน นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชทำให้ต้นพืชทรุดโทรม สำหรับปริมาณฝนที่มีน้อยประกอบกับน้ำระเหยมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน
ระหว่างวันที่ 12 -18 กุมภาพันธ์ 2564 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางปกคลุมประเทศไทยตอนบนในวันแรก ของช่วง จากนั้นมีกำลังอ่อนลง โดยในระยะปลายช่วงบริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกในระยะครึ่งหลังของช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นเกือบทั่วไปเกือบตลอดช่วง กับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนมากในระยะครึ่งแรกของช่วง โดยมีฝนบางพื้นที่ในระยะครึ่งหลังของช่วง สำหรับภาคใต้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน ทำให้มีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์บางพื้นที่
ภาคเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไปกับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ทางตอนบนของภาคเกือบตลอดช่วง สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด โดยมีฝนบางพื้นที่ทางตอนบนของภาคในระยะปลายช่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไปกับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศหนาวบางพื้นที่ สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาว และมีอากาศหนาวจัดบางพื้นที่ในวันแรกของช่วง ภาคกลาง มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นหลายพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 30 ของพื้นที่ในวันที่ 17 ก.พ. ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในระยะต้นช่วง จากนั้นอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นแต่ยังคงมีอากาศเย็นหลายพื้นที่ โดยมีฝนบางพื้นที่บริเวณชายฝั่งเกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 17 ก.พ. กับมีรายงานน้ำท่วมฉับพลันบริเวณจังหวัดชลบุรีในวันที่ 17 ก.พ. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปเกือบตลอดช่วง โดยมีฝนร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ในวันแรกและในระยะปลายช่วง ภาคใต้ฝั่ง มีอากาศเย็นหลายพื้นที่เกือบตลอดช่วง โดยมีฝนกับฝนหนักบางพื้นที่ในวันแรกของช่วง
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา