พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า
ระหว่างวันที่ 1 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2564
ออกประกาศวันจันทร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2564
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 26/64
การคาดหมายลักษณะอากาศในช่วงวันที่ 1 - 4 มี.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และ ภาคตะวันออก สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 7 มี.ค. 64 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิสูงขึ้น กับมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น
คำเตือน ในช่วงวันที่ 1 - 4 มี.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อน โดยมีลักษณะฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว
คำแนะนำสำหรับการเกษตร
ภาคเหนือ
ในช่วงวันที่ 1 - 2 มี.ค. 64 และ 5 - 7 มี.ค. 64 มีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยอากาศเย็นในตอนเช้าทางตอนบนของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 3 - 4 มี.ค. 64 มีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 18-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม.
- ระยะนี้อากาศแปรปรวน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย สำหรับในช่วงวันที่ 3-4 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนอง ผลผลิตทางการเกษตรที่แก่ดีแล้ว เกษตรกรควรรีบเก็บเกี่ยว ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้กลางแจ้ง เพราะอาจเปียกชื้นเสียหายได้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในช่วงวันที่ 1 - 4 มี.ค. 64 มีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่งอุณหภูมิต่ำสุด 16-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 7 มี.ค. 64 มีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 17-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 7-9 ชม.
- ระยะนี้อากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย สำหรับในช่วงวันที่ 1 - 4 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนอง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยง อยู่ในที่โล่งขณะฟ้าคะนอง สำหรับสภาพอากาศที่แห้งทำให้น้ำระเหยได้มาก เกษตรกรควรคลุมดินด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบไม้ และหญ้าแห้ง เป็นต้นเพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน
ภาคกลาง
ในวันที่ 1มี.ค. 64 และช่วงวันที่ 6 - 7 มี.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ กับมีอากาศร้อนและมีฟ้าหลัว ในตอนกลางวัน ลมใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 2 - 5 มี.ค. 64 มีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-39 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม.
- ระยะนี้เป็นช่วงต้นฤดูร้อนอากาศแปรปรวน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และในช่วงวันที่ 1 - 4 มี.ค. 64 จะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆ ขณะลมแรง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำของพืช
ภาคตะวันออก
ในวันที่ 1 มี.ค. 64 และในช่วงวันที่ 5 - 7 มี.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 2 - 4 มี.ค. 64 มีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม.
- ระยะนี้จะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้นของไม้ผลให้แข็งแรงเพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นล้มเมื่อมีลมแรง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคใต้
ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 1 - 2 และ 6 - 7 มี.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 3 - 5 มี.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 18-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม. ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %
- ระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย สภาพอากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตร รวมทั้งคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆ ในพืชสวน และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชทำให้ต้นพืชทรุดโทรม ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
ระหว่างวันที่ 22-28 กุมภาพันธ์ 2564 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนในวันแรกของสัปดาห์ โดยมีกระแสลมตะวันตกในระดับบนพัดผ่านประเทศเมียนมาเข้ามาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้ากับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนในตอนกลางวันพื้นที่ส่วนใหญ่มีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปในระยะกลางและปลายสัปดาห์ จากอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนในช่วงดังกล่าว สำหรับภาคใต้มีฝนน้อยเนื่องจากลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนเกือบตลอดสัปดาห์
ภาคเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไปในตอนเช้าตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ทางตอนบนของภาคในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ ส่วนในตอนกลางวันมีอากาศร้อนเกือบทั่วไป สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด โดยมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ทางตอนบนของภาคในวันที่ 23 และ 24 ก.พ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไปในตอนเช้าในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ในวันแรกและในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ ส่วนในตอนกลางวันอุณหภูมิสูงขึ้นจนมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปในระยะกลางและปลายสัปดาห์ สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาว โดยมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ทางตอนบนของภาคในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ภาคกลาง มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในตอนเช้า ส่วนในตอนกลางวันมีอากาศร้อนเกือบทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ของจังหวัดลพบุรีในวันที่ 26 ก.พ. ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในตอนเช้า ส่วนในตอนกลางวันทีอากาศร้อนเกือบทั่วไปทางตอนบนของภาค โดยมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลางบางพื้นที่ทางตอนบนของภาคในระยะปลายสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นในตอนเช้า ส่วนในตอนกลางวันทีอากาศร้อนหลายพื้นที่ โดยมีฝนบางพื้นที่ในวันสุดท้ายของสัปดาห์ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปในตอนเช้า กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ของจังหวัดกระบี่ในวันที่ 26 ก.พ. ส่วนในตอนกลางวันมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ สัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีรายงานฝนตกหนักและฝนตกหนักมาก
ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา