พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 8 - 14 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข่าวทั่วไป Monday March 8, 2021 15:44 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 8 - 14 มีนาคม พ.ศ. 2564

ออกประกาศวันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2564

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 29/64

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 9 - 12 มี.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดบางพื้นที่ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้มีฝนน้อย ส่วนในช่วงวันที่ 13 - 14 มี.ค. 64 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อน สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้น

คำเตือนในช่วงวันที่ 8 - 11 มี.ค. 64 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งขณะฟ้าคะนอง และไม่ควรเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆขณะลมแรง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

อากาศร้อนถึงร้อนจัดกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 8-9 มี.ค.มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 14-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม.

  • สำหรับอุณหภูมิที่แตกต่างกันมากระหว่างกลางวันและกลางคืน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย ส่วนสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่การเกษตรไว้ด้วย และหลีกเลี่ยงการจุดไฟ หากมีความจำเป็นต้องจุดไฟควรดับให้สนิท ทุกครั้งหลังเลิกใช้งาน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 9-10 มี.ค. 64 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 14 มี.ค. 64 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม.

  • ในช่วงวันที่ 9-10 มี.ค. จะมีฝนฟ้าคะนอง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดย หลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง เพื่อป้องกันผลผลิตเปียกชื้นเสียหาย นอกจากนี้ควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการระเหย ของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำให้เหมาะสมกับสัตว์น้ำที่เลี้ยง รวมทั้งดูแลจำนวนสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ หากน้ำมีน้อยจะทำให้สัตว์น้ำอยู่อย่างแออัด ส่งผลให้อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ในช่วงวันที่ 8 - 10 มี.ค. 64 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 14 มี.ค. 64 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-39 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม.

  • ระยะนี้จะมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน และมีแดดจัด เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน หากมี ความจำเป็นต้องทำงานในที่โล่งควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เพื่อป้องกันผิวไหม้เกรียม และดื่มน้ำบ่อยๆเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ สำหรับสภาพอากาศที่แห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดใน พืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นพืชทำให้ต้นพืชทรุดโทรม ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ ส่วนในตอนกลางวันจะมีอากาศร้อน ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน โดยอาจติดตั้งพัดลมเป่าและดูดอากาศ ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ฉีดน้ำเป็นฝอยบริเวณโรงเรือน หรือฉีดน้ำบริเวณหลังคาโรงเรือน เป็นต้น

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ตะวันออก ในช่วงวันที่ 8 - 12 มี.ค. 64 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 13 - 14 มี.ค. 64 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 % ความยาวนานแสงแดด 6-7 ชม.

  • ในช่วงนี้จะมีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยผูกยึดและค้ำยันกิ่งไม้ผลให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักและต้นโค่นล้ม เมื่อมีลมแรง สำหรับฝนที่ตกและหยุดตกสลับกัน เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้นซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 8 - 10 มี.ค. 64 เมฆบางส่วน ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 14 มี.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 18-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 % ความยาวนานแสงแดด 7-8 ชม. ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 8 - 10 มี.ค. 64 เมฆบางส่วน ส่วนในช่วงวันที่ 11 - 14 มี.ค. 64 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 %

  • สำหรับทางตอนบนของภาคสภาพอากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไร ต่างๆ ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชทำให้ต้นพืชทรุดโทรม รวมทั้งระวังป้องกันการเกิดอัคคีภัยไว้ด้วย ส่วนทางตอนล่างของภาคฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ สภาพอากาศเหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชสวนและพืชผัก ซึ่งทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ ดังนั้นเกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชดังกล่าวไว้ด้วย
ลักษณะอากาศในช่วง 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 1 - 7 มีนาคม 2564 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนใต้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ในระยะครึ่งแรกของสัปดาห์ โดยในวันสุดท้ายของสัปดาห์บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งได้แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณดังกล่าว กับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางเกือบตลอดสัปดาห์ นอกจากนี้มีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ ลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ โดยมีฝนในบริเวณประเทศไทยตอนบนเกือบตลอดสัปดาห์และมีลมกระโชกแรงหลายพื้นที่ สำหรับภาคใต้มีฝนในระยะกลางและปลายสัปดาห์จากอิทธิพลของลมตะวันออกที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยในระยะดังกล่าว

ภาคเหนือ มีอากาศร้อนเกือบทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในระยะครึ่งหลังของสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 5-45 ของพื้นที่ในระยะกลางและปลายสัปดาห์กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดสุโขทัย พิจิตร แพร่ และกำแพงเพชร ในวันที่ 3 มี.ค. และจังหวัดเพชรบูรณ์ในวันที่ 5 มี.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปเกือบตลอดสัปดาห์ เว้นแต่ในวันที่ 3 และ 4 มี.ค. ที่อุณหภูมิลดลงและมีอากาศร้อนในบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 10-55 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์ กับมีฝนหนักบางพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 3 มี.ค. มีฝนร้อยละ 75 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดศรีสะเกษในวันที่ 2 มี.ค. จังหวัดอุดรธานีในวันที่ 2 และ 5 มี.ค. จังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 3 มี.ค. จังหวัดหนองบัวลำภู นครพนม หนองคาย กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ และขอนแก่นในวันที่ 5 มี.ค. และจังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร และอุบลราชธานีในวันที่ 7 มี.ค. ภาคกลาง มีอากาศร้อนเกือบทั่วไปตลอดสัปดาห์ โดยมีฝนร้อยละ 10-25 ของพื้นกับมีฝนหนักบางแห่ง ในวันที่ 2-5 มี.ค. กับมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดอุทัยธานีในวันที่ 3 มี.ค. ภาคตะวันออก มีอากาศร้อนทางตอนบนของภาคโดยมีฝนร้อยละ 10-20 ของพื้นที่เกือบตลอดสัปดาห์กับมีฝนหนักบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 3 มี.ค. มีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ และมีรายงานลมกระโชกแรงบริเวณจังหวัดปราจีนบุรีในวันที่ 2 มี.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศร้อนบางพื้นที่ โดยมีฝนร้อยละ 5-45 ของพื้นที่ในวันที่ 3-6 มี.ค. กับมีฝนหนักบางแห่ง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศร้อนเกือบทั่วไป โดยมีฝนร้อยละ 10-40 ของพื้นที่ในบางวัน

สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร เลย บุรีรัมย์ สระแก้ว และชลบุรี ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนัก ได้แก่ แพร่ น่าน พิษณุโลก หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา อุทัยธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา นครนายก ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด และนราธิวาส

ที่มา: กรมอุตุนิยมวิทยา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ